การประชุมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 6/2560

 

วันที่ 2 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 6/2560 โดยมีนายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรมโดยมีประเด็นการประชุม ดังนี้

1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอรายงานสรุปผลการประชุมของคณะอนุกรรมการต่างๆ
1.1 คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา
ได้มีการนำเสนอกรอบภารกิจของคณะ
อนุกรรมการฯ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 ได้แก่
1.1.1 เป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านสังคม คือ การทำให้สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกัน เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ตามมาตรา 257 (2)
1.1.2 การปฏิรูปให้เกิดผลด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(1) การปฏิรูปให้เกิดผลด้านกฎหมาย (มาตรา 258 ค. (1)) โดยต้องมีกลไกในการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล
(2) การปฏิรูปให้เกิดผลด้านกระบวนการยุติธรรม
– ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอน มีกลไกช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ สร้างกลไกเพื่อบังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม
– ด้านระบบสอบสวน โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ การจัดให้มีบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรในกระบวนการยุติธรรม
ในการดำเนินงานต่างๆ สิ่งที่คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการควรคำนึงถึง คือ
– น้ำหนักและความเป็นไปได้
– ผลการปฏิรูปต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
– กรอบเวลาการปฏิรูปต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
1.2 คณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ
ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าของการจัดการประชุมครั้งที่ 2/2560 ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่าได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจงถึงรายละเอียดของอำนาจหน้าที่และภารกิจ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งต้องการที่จะขอข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศในเรื่องเฉพาะด้าน เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
1.3 คณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็น
ได้นำเสนอผลการประชุมครั้งที่ 2/2560 ที่ผ่านมา โดยได้จัดคณะทำงานด้านการรับฟังความคิดเห็นออกเป็น 5 คณะทำงาน ได้แก่
– คณะทำงานด้านสัมมนากลุ่มย่อยและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มเฉพาะและผู้เกี่ยวข้อง
– คณะทำงานด้านการรับฟังความคิดเห็นแบบเปิดกว้างและประชาสัมพันธ์
– คณะทำงานด้านการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มตำรวจ
– คณะทำงานด้านบริหารจัดการและจัดทำรายงาน
ในแต่ละคณะทำงานของคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นจะดำเนินงานภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ ห้วงเวลาในการดำเนินงาน และการพิจารณาแผนปฏิบัติงานที่สำคัญในห้วงปัจจุบัน พร้อมทั้งมีการกำหนดช่องทางและประเด็นคำถามการเปิดรับฟังความคิดเห็น (ทั่วไป) และแนวทางการประชาสัมพันธ์

2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ เรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา
ได้มีการนำเสนอข้อเสนอปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ดังนี้
(1) กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจ โดยให้กระจายการบริหารงานตำรวจสู่ระดับภาค นครบาล กองบัญชาการที่มีความสำคัญ
(2) การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ โดยจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจทั้งในระดับชาติ และในระดับตำรวจภูธรภาค นครบาล
(3) การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ
(4) การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปยังหน่วยงานอื่น รวมทั้งกระจายบทบาทไปสู่ชุมชน ซึ่งการจะถ่ายโอนได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งผู้โอนและผู้รับโอน และกระจายภารกิจตามงานยุติธรรมชุมชนไปสู่ชุมชน
(5) การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวนทั้งระบบ โดยเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานสอบสวนส่วนกลาง ปรับปรุงงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระจากการแทรกแซง และปรับปรุงค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนให้มีความเหมาะสมเทียบเคียงได้กับหน่วยงานอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม
(6) การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ โดยต้องทบทวนภารกิจในระดับสถานีตำรวจ และถ่ายโอนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้อง เน้นการดำเนินงานเชิงป้องกันร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจำแนกสถานีตำรวจให้เป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
(7) การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิต และการพัฒนาบุคลากรตำรวจ เช่น การจัดการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการศึกษา
(8) การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจให้เทียบเท่ากับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
(9) ส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน
(10) กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจ โดยเสนอให้ตั้งสถาบันส่งเสริมที่มีความเป็นอิสระ
อย่างไรก็ดีข้อเสนอต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงข้อเสนอจากคณะทำงานเพียงคณะเดียว ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินงาน แต่ควรต้องพิจารณาข้อเสนอจากคณะทำงานอื่นๆ ประกอบด้วยเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปตำรวจ คือ ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานในระดับสถานีตำรวจเป็นสำคัญ

141 Views