วันนี้ (2 ส.ค. 60) เวลา 09.30 น. ผอ.สกธ. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอกฎหมายที่ต้องจัดทำใหม่เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 6/2560 โดยมีวาระพิจารณาเรื่อง การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ประชาชนเร่งรัด ทวงถาม หรือฟ้องร้องให้รัฐปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ตามม.51 ของ รธน. แห่งราชอาณาจักรไทย ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 16 สนง.คปก. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ อาทิ ผู้แทนจาก ศร. ศย. ศป. สคก. กคส. ผผ. และ คกก.ร่าง รธน. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
ที่ประชุมได้ร่วมหารือในประเด็นตามขอบเขตของ ม.51 ได้แก่
1ประเด็นเจตนารมณ์ รธน. หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
การยกระดับมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิให้ประชาชนหรือชุมชนในการฟ้องร้อง ติดตาม เร่งรัดรัฐได้ ทั้งเป็นช่องทางให้รัฐแสดงศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนรับรู้รับทราบด้วย
2ประเด็นหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐ
หน้าที่ของรัฐที่ระบุในหมวดนี้จะมีความเข้มข้นสูงสุด ผูกพันประชาชนทุกคน และรัฐจะต้องปฏิบัติตาม ต่างกับหน้าที่ของรัฐที่ระบุในหมวดอื่นของ รธน. ที่กำหนดแก่เอกชนเฉพาะรายหรือกำหนดเพียงให้รัฐพึงกระทำเท่านั้น
3ประเด็นผู้ทรงสิทธิตาม ม.51
มีข้อคิดว่าเป็นการวางอำนาจฟ้องของประชาชนที่ได้ประโยชน์โดยตรง ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้นถึงจะมีอำนาจฟ้อง และผู้นั้นต้องอธิบายว่าจะได้ประโยชน์จากการกระทำนั้นอย่างไร ทำให้กฎหมายลำดับรองจะต้องกำหนดนิยามของคำให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นผู้คัดกรองให้ก่อนคดีจะขึ้นสู่ศาล
4ประเด็นเขตอำนาจศาล
อำนาจฟ้องนี้เพื่อให้รัฐดำเนินการซึ่งเป็นหลักกฎหมายมหาชน จึงไม่ใช่การฟ้องร้องระหว่างเอกชนที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ดังนั้นจะเป็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ให้พิจารณาเป็นกรณีๆ ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเห็นว่ากระทบถึงคำสั่ง/การกระทำทางปกครอง ประชาชนสามารถฟ้องร้องที่ศาลปกครอง หากเป็นประเด็นตามรัฐธรรมนูญ จึงนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแต่ก็อาจมีข้อจำกัดเรื่องบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางประการ
5ประเด็นการบังคับให้เป็นไปตาม รธน. และกฎหมาย
ศาลจะพิพากษาอย่างไรนั้น จะต้องมีแนวทางรองรับการบังคับคดีเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการต่อได้ กระบวนการส่วนนี้จะเป็นไปตามการออกคำบังคับหรือมาตรการเสริมในการกำหนดค่าปรับของศาลปกครอง หรือมาตรการบังคับของศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการยกร่าง
6ประเด็นกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมและประเด็นกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลา และวิธีพิจารณาคดี
การดำเนินการตามกลไกของศาลที่ได้ฟ้องร้องตามกลไกกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนได้นำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะเชื่อมโยงกับกลไกหรือกระบวนการที่อยู่ในระหว่างการยกร่างขึ้นใหม่ก็ได้
7ประเด็นประสบการณ์ของ รธน. และกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
รธน. ต่างประเทศ เช่น เยอรมนีหรือฝรั่งเศส ไม่ได้กำหนดลักษณะหน้าที่ของรัฐไว้โดยเฉพาะ ส่วน รธน. ของสเปนกำหนดสิทธิไว้ว่า รัฐจะต้องส่งเสริมสิทธิที่จับต้องได้ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ
8ประเด็นอื่นๆ เช่น
– สิทธิใดใน ม.51 ที่อาจควบรวมได้ อาจกำหนดเงื่อนไขของสิทธิไว้ให้ชัดเจน
– รัฐอาจกำหนดหมวดของการเบี่ยงเบนคดี (diversion) โดยมองในมิติที่รัฐควรได้ทราบหน้าที่ที่ต้องทำ มีมาตรฐานสิทธิแต่ละเรื่องที่รัฐจะต้องไปให้ถึง เป็นการแสดงความจริงใจในการทำหน้าที่ของรัฐโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนฟ้องร้อง
– การออกแบบกฎหมายลำดับรองจะต้องแยกความต่างของสิทธิที่คุ้มครองปัจเจกชนและสิทธิที่มุ่งคุ้มครองประชาชนโดยรวม
– ควรส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิตาม รธน. ม.51 เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และการสร้างความตระหนักขององค์กรของรัฐทั้งองคาพยพให้เกิดความตื่นตัวยิ่งขึ้น