การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 7/2560

วันที่ 7 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 7/2560 โดยมีนายวัลลภ นาคบัวผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรมโดยมีประเด็นการประชุม ดังนี้

1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบ ดังนี้
1.1 รายงานผลการปฏิรูปองค์กรตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในการปฏิรูปต้องคำนึงถึงหลักการ เช่น หลักความเป็นอิสระ หลักการกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการลดภาระงาน หลักการถ่วงดุลและการตรวจสอบ โดยมีแนวทางในการปฏิรูปใน 6 ด้าน ได้แก่
– พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการปรับหลักสูตรต่างๆ
– การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง กำหนดเส้นทางการเจริญเติบโตของแต่ละสายงาน
– การปฏิรูปการสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นการทำงานนิติวิทยาศาสตร์ให้สอดรับกับ ร.ธ.น.
– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครตำรวจบ้าน
– การตรวจสอบและการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เช่น การบรรจุเรื่องคุณธรรมและความซื่อสัตย์ในทุกหลักสูตร ใช้เทคโนโลยีในการติดตามการปฏิบัติงานของตำรวจ
– นำเอาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัย เช่น ระบบ CRIMES Biometrics และระบบคอมพิวเตอร์กลาง
1.2 รายงานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ เรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา

2.1 คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ได้มีการนำเสนอ โดยพิจารณานิยามศัพท์ การสืบสวนและการสอบสวน จาก มาตรา 2(10) และ มาตรา 2(11) ป.วิ.อ และได้มีข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
(1) ปัญหาว่าสมควรโอนอำนาจสอบสวนไปจากตำรวจหรือไม่
เนื่องจากกระบวนการสืบสวนและสอบสวนเป็นภารกิจที่ต้องสอดประสานกันตลอดเวลา คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นพ้องกันว่าไม่สมควรที่จะโอนการสอบสวนไปอยู่กับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น ควรรวมอยู่ใน สตช. เหมือนเดิม แต่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลให้เหมาะสม
(2) ปัญหาการถ่วงดุลอำนาจสืบสวนและสอบสวน
ควรให้หัวหน้าสถานีตำรวจทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน แต่ควรให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
(3) การคุ้มครองอำนาจอิสระและคุณภาพงานสอบสวน
– กำหนดให้สายงานสืบสวนสอบสวน มีเส้นทางการเจริญเติบโตของตน โดยหวนกลีบไปใช้ระบบแท่งของพนักงานสอบสวน แต่สามารถสลับตำแหน่งกันได้โดยผ่านการประเมิน
– สร้างความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่และค่าตอบแทนให้สามารถดำรงความเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง
– ยกระดับพนักงานสอบสวนให้มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ เพิ่มคุณสมบัติและงบประมาณให้พอเพียง
– มีกฎหมายกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระ และสร้างกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล
– เปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน
– นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อประโยชน์แก่ประสิทธิภาพงานสอบสวน และจัดให้มีการบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 หน่วยงานที่มีอิสระจากกัน
– กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ
– แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความคดีอาญา กรณีการทำผิดหลายข้อหาที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน
2.2 มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ โดยแยกได้เป็น
(1) การบังคับใช้กฎหมาย
– ก่อนเกิดเหตุ มีประเด็นเรื่องการป้องกันอาชญากรรม การสืบสวน การตรวจค้น
– ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ มีประเด็นเรื่องการจับกุม การสืบสวนเพื่อการจับกุม และการรับแจ้ง
(2) การสอบสวน
เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุคดีอาญา มีประเด็นเรื่องการรับแจ้ง การสืบสวนเพื่อสอบสวน จับกุม ตรวจค้น การดำเนินการทั้งหลายอื่นๆ สำนวนการสอบสวน
2.3 คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นได้อภิปรายอำนาจหน้าที่ ผลการปฏิบัติงาน และสรุปผลการประชุมของคณะทำงาน 5 คณะ ที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ จัดทำแผนงาน และความต้องการงบประมาณมานำเสนอต่อที่ประชุม

134 Views