วันนี้ (30 ส.ค.60) เวลา 09.00 น.ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการปฎิรูปวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 3/2560 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบให้นายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาตามวาระการประชุม ดังนี้
(ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก
– ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
– ยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
– ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ
– ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
โดยที่ประชุมได้มีประเด็นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ประธานเห็นว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะต้องมุ่งเน้นในการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ ส่งเสริมการพาณิชย์ และจะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหา และพัฒนาสังคมให้ดีขี้น รวมถึงวิสัยทัศน์จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย
(ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยที่ประชุมเห็นว่าการกำหนดตัวเลขจำนวนนักวิจัยจะต้องมีความชัดเจนและเป็นไปได้ ทั้งนี้ให้รวมถึงการพัฒนานักวิจัยในระดับชุมชน ซึ่งถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้เกิดการยอมรับในชุมชน
ระบบงบประมาณและติดตามประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม โดยนำเสนอแนวทางการจัดสรรงบประมาณเป็น 2 แบบ คือ แผนงานบูรณาการ และแผนงาน Spearhead โดยมีสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม (สวนช) เป็นหน่วยงานเสนอกรอบงบประมาณ
โดยที่ประชุมเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นแบบ Block Grant หรือแบบ Package จะต้องพิจารณาถึงความต่อเนื่องของโครงการ ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และจะต้องเกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงด้วย
(ร่าง) พรบ. การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างที่คณะอนุกรรมการเสนอ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
– ก่อนนำเสนอ พรบ. ควรมีการกล่าวถึงความเป็นมา ถึงปัญหาด้านต่างๆ เช่นด้านนโยบาย งบประมาณ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินงานด้านการวิจัยของประเทศ จึงเป็นที่มาของการบูรณาการหน่วยงาน วช. และ สวทน. ซึ่งนำมาสู่การยกร่าง พรบ. ดังกล่าว
– ร่าง พรบ. จะต้องรองรับยุทธศาสตร์การวิจัยชาติ อาทิ กลไกการขับเคลื่อน และสิทธิประโยชน์ของนักวิจัย ค่าตอบแทน
– เพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยต่างประเทศ
– เพิ่มเติมหน่วยงานรองรับมาตรฐานการวิจัย
– นิยามศัพท์ นักวิจัย โดยให้หมายรวมถึง นักวิจัยในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่เครือข่ายนักวิจัยต่อไป
– เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบวิจัยของประเทศโดยเร็วตามข้อสั่งการของ นรต. ให้มีการจัดตั้งสำนักงาน วนช. ขึ้นก่อน ที่ พรบ. นี้จะประกาศใช้ โดยการจัดตั้งจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. นี้ โดยยังไม่มีการยุบหน่วยงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจให้ เลขาธิการ วช. หรือ สวทน. เป็นผู้บริหารโดยพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ งบประมาณ การบริหารจัดการ (Operator) และติดตามงานวิจัย (Regulator) ดังนั้น ร่าง พรบ. ฉบับนี้ จึงต้องมีการเชื่อมโยง สำนักงานฯ ดังกล่าว โดยคาดว่า หน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ตาม พรบ. นี้จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย. 2661
– ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถานะของสำนักงานว่าควรเป็นส่วนราชการหรือเป็นหน่วยงานตาม กม เฉพาะแต่อย่างใด
(ร่าง) พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….
ประธานเห็นว่า ร่าง พรบ. ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัย/นวัตกรรมและนักวิจัยของประเทศ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดทำกฎหมายดังกล่าวเป็น พระราชกำหนด เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายเร็วขึ้น ทั้งนี้ สาระสำคัญจะต้องไม่เกินกว่าที่ ร่าง พรบ. นี้ กำหนดไว้