วันที่ 30 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ รัฐสภา นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 6/2560 โดยมีนางอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผอ. สวพ. เข้าร่วมประชุมแทนในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการโดยสรุปผลการประชุม ดังนี้
1. ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมพิจารณา คือ เรื่อง การปฏิรูประบบการสอบสวนในคดีอาญา โดยพิจารณาใน 2 ประเด็นหลักได้แก่
1.1 ปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน
– การให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
– การแจ้งข้อหาและเสนอศาลออกหมายจับ การขอออกหมายค้น และหมายขังจากศาล ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ
– การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการกระทำต่อเมื่อมีพยานหลักฐานโดยปราศจากข้อสงสัย
1.2 การกระจายอำนาจสอบสวน
2. มติที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น ดังนี้
2.1 การกำหนดให้พนักงานอัยการเข้ามามีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงไม่เหมาะสม
2.2 การเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถถ่วงดุลได้อย่างเหมาะสม โดยขอบเขตการมีส่วนร่วมในการสอบสวน ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ คือ
(1) เข้ามาร่วมในคดีอะไรบ้าง
(2) เข้ามาร่วมกันอย่างไร โดยมีแนวทางเบื้องต้นตามป.วิ.อ. มาตรา 20 และมาตรา 150
(3) เข้ามาร่วมในการขั้นตอนไหน
(4) แนวทางการให้พนักงานอัยการมีดุลพินิจที่จะเข้าร่วมการสอบสวนได้โดยอิสระ
อาจเป็นกรณีการเข้ามาร่วมในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือคดีที่ผู้เสียหายเข้ามาร้องขอความเป็นธรรม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีการให้พนักงานอัยการมีดุลพินิจมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นได้ จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นตามมาตรา 32 พ.ร.บ สอบสวนคดีพิเศษ ว่าให้มีคณะกรรมการร่วมขึ้นมา (มีพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และคนกลางร่วมเป็นกรรมการ) เพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดที่สมควรให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการสอบสวน หรืออาจมอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเข้ามาเป็นคนกลางระหว่างตำรวจและพนักงานอัยการ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ