วันที่ 30 สิงหาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 11/2560 โดยมีนายวัลลภ นาคบัวผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรมโดยมีประเด็นการประชุม ดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบ ดังนี้
1.1 รายงานสรุปผลการสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็นจำนวนทั้งสิ้น 200 คน และมีประเด็นในการระดมความคิดเห็น เช่น
– เกิดอะไรหรือเห็นอะไรในวงการและการปฏิบัติงานของตำรวจ
– คิดว่าจะเกิดอะไร จะเห็นอะไรในวงการและการปฏิบัติงานของตำรวจต่อไปอีก
– ต้องการเห็นตำรวจที่พึงปรารถนาอย่างไร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล
– ประเด็นที่ประชาชนต้องการ เช่น โครงสร้างที่เป็นแนวนอน การปรับปรุงการปฏิบัติงาน มีคุณธรรมจริยธรรม การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
1.2 รายงานผลการศึกษาระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนด้านต่างๆ ของข้าราชการตำรวจ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
มีการนำเสนอผลการศึกษาการกำหนดอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ ซึ่งต้องพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต ความเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม และความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ โดยการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของตำรวจต้องกำหนดให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มงานที่มีความหลากหลาย
2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ การสรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ
2.1 คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล
ได้มีการนำเสนอประเด็นเรื่องค่าตอบแทนไปในเรื่องเพื่อทราบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นประเด็นในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารงานบุคคลในคราวต่อไป คือ เรื่องการดำเนินการปรับค่าตอบแทนตำรวจให้มีความเหมาะสม
2.2 คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา
ได้มีการนำเสนอว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้มีการศึกษาพิจารณาข้อเสนอของ ป.ย.ป ว่าให้มีการกระจายอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดี รวมถึงเรื่องการให้อัยการเข้ามามีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าอัยการยังขาดความพร้อมที่จะเข้ามาสอบสวนคดีอาญาทั้งหมด และในเรื่องการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไม่มีหน่วยงานไหนทำได้ดีเท่าตำรวจ นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงรูปแบบการให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีแนวทางไว้อยู่แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 และมาตรา 150 การให้อัยการเข้ามาถ่วงดุลตรวจสอบจะต้องเข้ามาในลักษณะนี้ แต่อย่างไรก็ดีที่ประชุมคณะอนุกรรมการยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ในการอภิปรายได้มีกรรมการให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
– งานสอบสวนต้องมีความต่อเนื่อง และหัวหน้าสถานีตำรวจจำเป็นต้องทราบในเรื่องเกี่ยวกับงานสอบสวน แต่การให้อัยการเข้ามาอาจก่อให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง
– เห็นด้วยว่าตำรวจยังต้องเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการสอบสวน แต่ควรให้อัยการเข้ามาร่วมในการสอบสวนด้วย เพราะตำรวจไม่ควรทำงานฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้การให้อัยการเข้าร่วมในงานสอบสวนต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป