วันนี้ (29 ส.ค. 60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 1 นายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ
โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานศาลยุติธรรม เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นและมีประเด็นข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจาณาในประเด็นหลักคือ เหตุผลความจำเป็นในการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและนโยบายของรัฐบาล
โดยที่ประชุมพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า ในการพิจาณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ หากพิจาณาความจำเป็นในการตรากฎหมาย ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นในการตรากฎหมาย ด้วยเหตุผลประกอบ ดังนี้
1การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีแนวปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินคดีแพ่งในปัจจุบันอยู่แล้ว
2ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มิได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติขึ้นใหม่ ที่จะส่งเสริมหรือลดภาระในการพิจารณาอรรถคดี ซ้ำยังมีกฎหมายบัญญัติหลักในการดำเนินคดีไว้ด้วยแล้ว ทั้งยังมีความซ้ำซ้อนของกฎหมาย เช่น
– ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ประเด็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การอุทธรณ์และฎีกา)
– มีแนวความคิดและการดำเนินการที่จะผลักดันในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่งไว้แล้ว (ประเด็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี วิธีการชั่วคราวก่อนฟ้องคดี)
– ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. (ในประเด็น การฟ้องคดีโดยตัวแทน การเรียกค่าเสียหาย การไกล่เกลี่ย การพิพากษาเกินคำขอ)
3การยกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาขึ้นเป็นกฎหมายในระดับพ.ร.บ. อาจมีข้อขัดข้องที่อาจเป็นอุปสรรคในการตีความที่กระทบต่อแนวปฏิบัติในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
4การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีปริมาณคดีค่อนข้างน้อย (สถิติคดี) จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีพิจาณาคดีเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
จากมติที่ประชุมข้างต้น สกธ. จะได้จัดทำความเห็นในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับต่อไป