สกธ. มอบของขวัญปีใหม่ 2561 ให้แก่ประชาชน โดยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงยุติธรรมสู่ยุติธรรมชุมชน
เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ สกธ. ได้ลงพื้นที่ศูนย์ยุติธรรมชุมชน โดยผู้บริหารพร้อมบุคลากรสำนักงานกิจการยุติธรรม และส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์ยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมจังหวัด รวม ๑๐๐ คน โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการ ๒ แห่ง ได้แก่ ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และศูนย์ยุติธรรมชุมชน ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กิจกรรมเป็นการพบปะผู้นำชุมชน และเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นต่างๆ ดังนี้
– ความเข้มแข็งของชุมชนด้านกระบวนการยุติธรรม
– สถานการณ์หรือสภาพปัญหาในพื้นที่
– แนวทางของชุมชนที่ดำเนินการในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาทิ การป้องกันอาชญากรรม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กองทุนยุติธรรม
ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เป็นต้น
– ความต้องการในพื้นที่ด้านกระบวนการยุติธรรมนอกจากนี้ยังดำเนินการส่งมอบสมุดภาพความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในรูปแบบอินโฟกราฟิก ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สามารถป้องกันปัญหาอาชญากรรมและไม่กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้กลไกของชุมชนอย่างเข้มแข็ง
โดยสามารถสรุปผลจากการลงพื้นที่ได้ ดังนี้
ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลบ้านป่า
ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน คือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม มีหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบ 11 หมู่บ้าน
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน
– ปัญหายาเสพติด
– ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยที่เกิดจากประชากรแฝง
– ปัญหาข้อพิพาทจากระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียง และข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนกับชุมชน
– ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย (สิทธิต่างๆของประชาชน หนี้สิ้นนอกระบบ ) เป็นต้น
แนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา
– ยุติธรรมชุมชนบ้านป่าได้สร้างความร่วมมือกับศูนย์ดำรงธรรมที่มีความเชี่ยวชาญอยู่ก่อนแล้วในการให้บริการประชาชนทั้งในการไกล่เกลี่ยและการให้ความช่วยเหลือเยียวยา
สิ่งที่ต้องการให้ส่วนกลางสนับสนุนหรือช่วยเหลือในอนาคต
– สื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบของสื่อวีดิทัศน์ สื่อเสียง หรือสื่อดิจิทัลที่ใช้ในการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน
– การจัดให้มีนิติกรมาประจำในศูนย์ยุติธรรมชุมชน(ไม่จำเป็นต้องมานั่งประจำทุกวัน อาจให้มาให้บริการสัปดาห์ละ 1-2 วันก็ได้)
ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลท่าคล้อ
ปัญหาของชุมชน
– ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน (การขายฝาก, การครอบครองที่ดินประเภทต่างๆ เช่น สปก. ที่ราชพัสดุ, การที่สัตว์ป่าบุกรุกที่ดิน ทำลายพืชผลทางการเกษตรเสียหาย)
– ปัญหาเกี่ยวกับหนี้และการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม
– ปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการ/ขั้นตอนกระบวนยุติธรรม รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยุติธรรม
– ประชาชนบางส่วนยังไม่รู้จักกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม
ความต้องการของชุมชน
– ข้อมูล/ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่จำเป็นต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน นิติกรรมสัญญา
– ข้อมูลช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น การขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย, การรับชดเชยเยียวยาในกรณีต่างๆ
– ข้อมูลการปฏิบัติตัวเมื่อเข้าสู่กระบวนการ เช่น ถูกจับกุม/สอบสวน/ดำเนินคดี, ถูกหมายศาลเรียก
การดำเนินงานของศูนย์ยุติธรรมชุมชน
– ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน
– ให้คำปรึกษา/ความช่วยเหลือทางกฎหมาย/กระบวนการยุติธรรมในเบื้องต้น
– ช่วยดู/ดูแลผู้พ้นโทษในชุมชน
– ประสานงานส่งต่อปัญหาไปยังหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในเรื่ิองนั้นๆ โดยตรง
จุดแข็งของศูนย์ยุติธรรมชุมชน
– สามารถจัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องส่งต่อไปยังหลายหน่วยงานโดยไม่จำเป็น