การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 27/2560

 

วันที่ 27 ธันวาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 27/2560 โดยมีนายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม มีประเด็นการประชุม ดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบ คือรายงานการดำเนินการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจและการพิจารณาบำเหน็จความชอบเลื่อนเงินเดือนไปยังคณะรัฐมนตรี
ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ได้ส่งร่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขและให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 26 มาตรา
ทั้งนี้ กรรมการได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างมาตรา 30 (4) ว่าควรใช้ถ้อยคำว่า “ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็น” แทน “ซึ่งไม่เป็นและไม่เคยเป็น” หรือไม่ นอกจากนี้ในร่างมาตรา 18 (6) ควรเพิ่มเติมกรรมการหมู่บ้านนอกเหนือจากท้องถิ่นด้วย เป็นต้น

2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ
2.1 ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ตำรวจกองประจำการ)
ได้นำเสนอร่างดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 1-7 โดยเป็นการเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ กรรมการได้ให้ข้อสังเกตว่าควรมีการบัญญัติมาตรา 6 ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ชัดเจนขึ้นและเพื่อให้เชื่อมกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อยากให้มีผู้ช่วยตำรวจที่คัดเลือกมาจากทหารที่ปลดประจำการแล้ว โดยให้ชุมชนเป็นผู้เลือก หรือควรเอาทหารที่เป็นกำลังพลสำรองมาแล้ว 2 ปี เข้ามาเป็นตำรวจกองประจำการ โดยให้กองทัพเลือกให้ เป็นต้น
2.2 ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ เรื่อง ประชาคมและเครือข่ายตำรวจในจังหวัดและชุมชน
1. ควรสร้างจุดเชื่อมโยงให้ตำรวจภูธรจังหวัดมีความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบกับส่วนราชการประจำจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ชุมชน และประชาชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตำรวจ โดยจำเป็นต้องดำเนินการ ดังนี้
– พัฒนาความสัมพันธ์ตำรวจภูธรกับส่วนราชการจังหวัด โดยพิจารณาสถานะความเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของตำรวจจังหวัด และ กอ.รมน. จังหวัด
– คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการบริหารกิจการที่ดีของตำรวจประจำจังหวัด
– ความร่วมมือและเครือข่ายตำรวจตามโมเดลประชารัฐ คือ คณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการตำรวจระดับสถานี
2. ในการนี้จำเป็นต้องยกเลิกระเบียบ ก.ต.ช. ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ พ.ศ. 2549 และเปลี่ยนคณะกรรมการ กต.ตร. ระดับต่างๆ เป็นคณะกรรมการข้างต้น
ทั้งนี้ กรรมการได้ให้ข้อสังเกตเรื่องการมีกองทุนระดับจังหวัดในคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัด ควรบอกที่มา วัตถุประสงค์ และการจัดตั้งกองทุนต้องสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณของกองทุน ไม่ควรระบุตายตัวว่าได้มาจากงบประมาณ 3% จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

122 Views