เปิดบ้าน ยุติธรรมจังหวัดนครนายก

 

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561 โครงการอบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 3 ณ จังหวัดนครนายก อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก
การอภิปราย เรื่อง “เปิดบ้านงานยุติธรรม” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหาร/ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายกระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัด ดังนี้

-คุมประพฤติ – ปัญหาของนครนายกมีจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะพื้นที่จังหวัดนครนายกมีรอยต่อหลายจังหวัดล้อมรอบ /จำนวนเจ้าหน้าที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ถูกคุมประพฤติ ถึงแม้ว่าจะมีเครือข่ายอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยปฏิบัติงาน แต่ปัจจุบันก็ยังมีจำนวนไม่ครอบคลุมพื้นที่ระดับหมู่บ้าน

-สถานพินิจฯ – ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนการทำงาน ที่สอดรับนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดให้มีสถานพินิจทั่วทุกจังหวัด และมีการเยี่ยมผ่านแอฟพิเคชั่น ตลอดทั้งนโยบายเปลี่ยนสถานพินิจเป็นโรงเรียนประจำ โครงการ “1 สถานพินิจ 6 สถานศึกษา” บูรณาการร่วมกับสถานศึกษาป้องกันการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ตลอดทั้งสอดส่องควบคุมสถานประกอบการต่างๆ

-เรือนจำ – คดีส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด สถิติการกระทำความผิดซ้ำสูง โดยในปัจจุบันกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เช่น การทำ MOU กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำหน้าเสริมสร้างอาชีพ การให้ทุนประกอบอาชีพ การแยกโปรแกรมบำบัดเฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เป็นต้น

-บังคับคดี – หน้าที่หลัก คือ การบังคับคดีทางแพ่ง โดยนำทรัพย์สินของผู้ถูกบังคับคดีมาขายทอดตลาดเพื่อชดใช้หนี้ และทำหน้าที่เป็นสำนักงานวางทรัพย์ ในกรณีที่ชาวบ้านไปขายฝาก แต่เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนแล้ว นายทุนไม่ยอมรับเงินคืน ทำให้ต้องถูกยึดที่ดิน กรมบังคับคดีจึงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการรับเงิน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้าน

ช่วงที่สอง
การอภิปรายเรื่อง “เราช่วยคุณได้ : เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรม” โดยได้รับเกียรติจากผู้แทน 4 หน่วยงาน ที่มีภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนในด้านต่างๆ ดังนี้

-กองทุนยุติธรรม
การให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดี ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนไปถึงชั้นศาล (คนจนไม่ต้องร้องไห้ สกย.จะอยู่เคียงข้างคุณ)

-สชง.
การจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (คดีฆ่า ทำร้ายและมีผลต่อสภาพจิตใจ)

-สภาเกษตรกรแห่งชาติ
การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการเชื่อมโยงระดับหมู่บ้าน มีการจัดประชุมเกษตรกรระดับจังหวัดซึ่ง ยธ.และ สกธ. สามารถใช้เวทีให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกษตรกรควรรู้ได้

-กองทุนหมู่บ้าน
ให้สินเชื่อในการประกอบอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างระดับหมู่บ้าน ให้เกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

ช่วงสุดท้าย
ผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ท. บรรยายหัวข้อ “1206 : ป.ป.ท. Call center (การสร้าง ความร่วมมือในการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในภาครัฐ)” โดย สาระสำคัญกล่าวถึงความเป็นมา ที่ก่อตั้ง ป.ป.ท.ขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภารกิจของ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยแบ่งอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลการกระทำการทุจริต และสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมาย

ทั้งนี้ รับผิดชอบในกรณีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับอำนวยการลงมา (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนให้เป็นระดับอำนวยการสูงลงมา) โดยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มีด้วยกัน 3 ช่องทาง ได้แก่
1. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่เกิดเหตุ (สำนักงาน ปปท. เขต 1-9)
2. สายด่วน 1206
3. Website ป.ป.ท.

121 Views