อบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 4 จ.จันทบุรี (วันที่สอง)

 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ของโครงการอบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 4 ณ โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ จ.จันทบุรี

เริ่มต้นด้วยความเข้มข้นทางวิชาการช่วงเช้า
เวลา 09:00 – 12:00 น. การอภิปรายเรื่อง “เราช่วยคุณได้ : เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรม” โดยได้รับเกียรติจากผู้แทน 4 หน่วยงาน ที่มีภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนในด้านต่างๆ ดังนี้

สภาเกษตรกรแห่งชาติ : การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการเชื่อมโยงระดับหมู่บ้าน โดยอำนาจหน้าที่สภาเกษตรกรระดับจังหวัดมีหน้าที่ พอสรุปได้ ดังนี้
1.พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรภายในจังหวัด
2.ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกรและหน่วยงานรัฐ
3.ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรในจังหวัด
4.เสนอแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อบูรณาการเป็นแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
5.สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
6.เสนอนโยบาย แนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรม ราคาผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ
7.ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่เกษตรกร
ทั้งนี้ สภาเกษตรแห่งชาติ ได้มีการทำ MOU กับ สกธ. ในการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกษตรกรและภาคประชาชนควรรู้ สำหรับในด้านของ ศยช. มีตัวแทนของคณะกรรมการเกษตรกรหมู่บ้านเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชนด้วย

กองทุนหมู่บ้าน : ให้สินเชื่อในการประกอบอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างระดับหมู่บ้าน ให้เกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ โดยกองทุนหมู่บ้านให้ความสำคัญในการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยการให้ภาคประชานชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานและการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ทั้งนี้ในกรณีที่มีปัญหาความขัดแย้งได้มีการใช้บริการของศูนย์ไกล่เกลี่ยในการแก้ไขปัญหาด้วย

กองทุนยุติธรรม : “คนจนล้นคุก” คำนี้จะไม่เป็นคำพูดติดปาก เนื่องจากมีกองทุนยุติธรรม ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือให้กับทั้งผู้ที่เป็นโจทก์และจำเลย มีเงินใช้ในการดำเนินคดีต่างๆ เช่น มีเงินประกันตัว เพื่อกลับมาดูแลครอบครัว มีเงินจ้างทนายไว้ปรึกษาเรื่องคดีความ รวมถึงหาหลักฐานอื่นๆเพื่อพิสูจน์ความจริงของตัวเองในชั้นศาลต่อไป ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ที่พักการคุ้มครองพยาน ช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัยความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ปกครอง หรือละเมิดที่กระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกระทบต่อ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
และสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามวัตถุประสงค์ เช่น การให้ความรู้ทางกฎหมาย “คนจนไม่ต้องร้องไห้ สกย.จะอยู่เคียงข้างคุณ” ในส่วนของ ศยช. คกก.ศยช. สามารถเป็นผู้รับรองความประพฤติของผู้ถูกคุมประพฤติได้ และสามารถเป็นตัวแทนในการประชาสัมพัธ์ในการเข้าถึงความกระบวนการยุติธรรมได้

สชง. : ให้ความช่วยเหลือในการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ในส่วนของ ศยช. คกก.ศยช. มีส่วนในการเฝ้าระวังติดตามข่าวอาชญากรรมในพื้นที่ และรับเรื่องเบื้องต้นของผู้มาขอบริการ และเสนอข้อเท็จจริงให้กับ สยจ.

จากนั้น เวลา 13:00 – 17:00 น. เป็นกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้น ผ่านเกม “The Choice ทางเลือก ทางรอด” ดำเนินการโดย ทีมศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื้อหาเป็นเกมสมมติสถานการณ์จำลองด้านหนี้นอกระบบ และให้สมาชิกแต่ละกลุ่มร่วมกันตัดสินใจเลือกทางที่คิดว่าถูกต้องเหมาะสม ซึ่งผู้เข้าอบรมได้ให้ความสนใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเป็นอย่างดี

83 Views