ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ครั้งที่ 4/2561

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.30 น. ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ครั้งที่ 4/2561 โดยมี นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นกรรมการ และ นางอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางในการห้ามมิให้เปิดเผย หรือนำประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมแก่เด็กหรือเยาวชน โดยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๘๔ โดยให้เสนอต่อ กพยช. เพื่อพิจารณาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการของการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรมในกรณีทั่วไป โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงนิยามของคำว่า “ประวัติอาชญากรรม” วัตถุประสงค์ของการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม ข้อมูลหน่วยงานที่ต้องจัดเก็บ แนวทางในการจัดเก็บ การลบหรือการทำลาย การปรับปรุงข้อมูลประวัติอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูล

2. เห็นชอบ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากคณะอนุกรรมการฯ มีความประสงค์จะขอแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนใดขอให้แจ้งฝ่ายเลขานุการฯ ภายใน 15 วัน และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ เพิ่มเติมรายงานผลการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 สรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในประเด็นที่สำคัญและส่งผลต่อการขับเคลื่อนด้านการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้โดยให้จัดทำอยู่ในส่วนบทสรุปผู้บริหาร
2.2 ผลการดำเนินงานในส่วนของกฎหมายรายประเด็น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมกรณีนายศุภชัย ทัฬหสุนทร กระโดดตึกอาคารศาลอาญาเสียชีวิต โดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และกรณีครูวิภา บานเย็น ถูกบังคับคดีในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ กยศ. โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น ดังนี้
(1) กรณีการเสียชีวิตของ นายศุภชัย ทัฬหสุนทร กระโดดตึกอาคารศาลอาญาเสียชีวิต โดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในสองด้าน คือ ด้านของการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและจำเลย และด้านของการปฏิบัติต่อเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำความผิด ซึ่งจะต้องแก้ไขและพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐาน ในขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญแก่เหยื่อในการเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมจากการอำนวยความยุติธรรมของรัฐ รวมถึงการได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
(2) กรณีครูวิภา บานเย็น ถูกบังคับคดีในฐานะผู้ค้ำประกันลูกหนี้ กยศ. อนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าควรได้มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการให้กู้ยืมเงิน ทั้งในเรื่องของการจัดทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ การบริหารและการติดตามหนี้ และการพัฒนากลไกหรือมาตรการอื่นแทนการฟ้องบังคับชำระหนี้โดยทางศาล

91 Views