การประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 16 ส.ค. 2561 เวลา 17.30 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน “การประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมภายใต้กรอบการขับเคลื่อนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม” ซึ่งเป็นการหารือร่วมกับนายอัชพร จารุจินดา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (คกก.) และคณะ ในการนี้ ปยธ. และหัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ อคส. รอง อรท. ผอ.สนว. เข้าร่วมการประชุมด้วยโดยมี ผอ.สกธ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

ที่ประชุมได้หารือประเด็นที่เกี่ยวข้องการจัดทำกฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมใน 3 ประการ ดังนี้
1. แนวทางการประสานงานกับกระทรวงยุติธรรม รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูล ตลอดจนการยกร่าง และการเสนอร่างกฎหมายที่ คกก. รับผิดชอบ โดย รมว.ยธ.มีความยินดีที่จะร่วมดำเนินการกับ คกก. และเห็นควรให้นำแนวทางของ คกก.ปฏิรูปเข้าสู่การพิจารณาของ กพยช. เพื่อให้ กพยช. ร่วมขับเคลื่อนด้วย

2. การดำเนินกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะสั้น (Quick Win) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
-โครงการจัดหาทนายความประจำโรงพัก
-โครงการปล่อยชั่วคราวในวันหยุด
โดยข้อเสนอ Quick Win ทั้งสองเรื่องมีความสอดคล้องกับภารกิจของยธ.ที่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันสั้นได้ และสามารถทำให้กว้างขวางได้มากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมให้มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำสถานีตำรวจ และควรมีการประชาสัมพันธ์ภารกิจงานของยุติธรรมจังหวัดและกองทุนยุติธรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้มากยิ่งขึ้น

3. การจัดทำกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับ ยธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ควรมีการศึกษาและระดมความคิดเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมาย และฟื้นคืนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบการสอบสวน การพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงเรื่องการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน การพิสูจน์ศพนิรนาม และการชันสูตรพลิกศพ และการให้ความช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เป็นต้น โดยให้มีการแต่งตั้งผู้แทน ยธ. เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในการจัดทำกฎหมายด้วย

ที่ประชุมมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความสูญเสียหรือเสียหายที่ของเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการอำนวยความยุติธรรม หน่วยงานในกระบวนยุติธรรมจึงต้องมีความร่วมมือและเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

76 Views