รับฟังความคิดเห็นประกอบการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558

วันที่ 30 ส.ค. 2561 เวลา 09.30 น. นายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุม บีบี 201 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ยธ. ได้มอบหมายให้ สกธ. รับผิดชอบทบทวนกฎหมาย จำนวน 23 ฉบับ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา สกธ. ได้ทบทวนกฎหมายที่ต้องแล้วเสร็จ ภายในปี 2561 จำนวน 16 ฉบับ โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ผ่านทาง www.oja.go.th รวมทั้งสอบทานความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นในวันนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม สรุปสาระสำคัญในการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายได้ ดังนี้
1. ผลการทบทวนกฎหมาย จำนวน 16 ฉบับ มีผลการพิจารณา 2 ส่วน คือ 1) กฎหมายที่หน่วยงานเห็นควรให้คงใช้บังคับต่อไป จำนวน 10 ฉบับ และกฎหมายที่หน่วยงานเห็นควรให้แก้ไขปรับปรุง จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 พ.ร.บ.สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527
2. ที่ประชุมมอบหมายให้ สกธ. จัดทำรายงานผลการทบทวนกฎหมายให้ กกม. สป.ยธ. รับไปเสนอและดำเนินการตามขั้นตอน กรณีกฎหมายที่หน่วยงานเห็นควรให้แก้ไขปรับปรุง จำนวน 6 ฉบับ ให้ดำเนินการทบทวนกฎหมายตามกรอบเวลา โดยศึกษาประเด็นที่มีข้อเสนอให้แก้ไขปรับปรุงว่ามีหน่วยงานใดได้ดำเนินจัดทำหรือเสนอร่างกฎหมายไว้แล้ว และพิจารณาประกอบผลการศึกษาหรืองานวิจัยที่รองรับข้อเสนอต่างๆของหน่วยงานด้วย รวมทั้ง เห็นควรให้พิจารณาความสอดคล้องกับแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ การกำหนดแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เห็นควรให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาประเด็นตามข้อสังเกต และนำผลการศึกษาทบทวนที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต่อไป

73 Views