วันที่ 16 กันยายน 2562 เวลา14:30 น. นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานและจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ 2562 และวางแผนการดำเนินโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งติดตามและรับฟังข้อมูลจากการดำเนินโครงการฯในพื้นที่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งสิ้น 51 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัดยธ.จากส่วนกลางและในพื้นที่ และผู้แทนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมชิโน โรงแรม ดิโอลด์ ภูเก็ต กะรน บีช รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต
การอภิปรายในวันนี้สามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
การอภิปรายหัวข้อ “การทบทวนและสรุปผลการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ” โดยวิทยากรจากหน่วยงานสังกัด ยธ. ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 5 ท่าน
1. สยจ.ภูเก็ต มีบทบาทในการสนับสนุนหน่วยงานในสังกัด ยธ.ในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เช่น พื้นที่/ชุมชน ที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังช่วยดำเนินกิจกรรมรู้กฎหมายรู้หน้าที่ ตามโอกาสต่างๆ
2. รจ.ภูเก็ต รับผิดชอบ จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ กศน.เมืองภูเก็ต รร.ภูเก็ตวิทยาลัย วท.เทคโนฯภูเก็ตและ วท.เทคนิคภูเก็ต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นม.ปลาย/อาชีวะ เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสกระทำผิด เพื่อไม่ให้เข้ามาสู่การดูแลของเรือนจำ
3. สพ.ภูเก็ต รับผิดชอบ 3 โรงเรียน ได้แก่ รร.บ้านเชิงทะเล รร.ทศ.พิบูลสวัสดี และรร.เกาะสิเหร่ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้น ป.ตอนปลาย โดยคัดเลือกจากพื้นที่เสี่ยงในจ.ภูเก็ต และจากสถิติเด็กที่กระทำผิดที่เริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ (11-12 ปี)
4. สบค.ภูเก็ต รับผิดชอบ 1โรงเรียน ได้แก่ รร. เฉลิมพระเกียรติฯ ภูเก็ต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นม.ปลาย ที่ขอรับทุน กยศ. เพื่อให้ความรู้เรื่องการชำระหนี้ เป็นการป้องกันไม่ให้ถูกฟ้อง บังคับคดี และยึดทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อ พ่อแม่/ผู้ปกครอง/ผู้ค้ำประกัน ก่อให้เกิดการลดความเสี่ยงในการหนีหนี้
5. สคป.ภูเก็ต รับผิดชอบ 2 รร. ได้แก่ รร.วัดเทพกระษัตรี และรร.วัดมงคลวราราม มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นป.ตอนปลาย โดยคัดเลือกจากเด็กที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิด เช่น ลักเล็กขโมยน้อย การใช้ความรุนแรงต่อรุ่นน้อง และการทุจริตในการสอบ เพื่อไม่ให้จากการกระทำความผิดเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
การอภิปรายหัวข้อ “เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ สภาพปัญหา การประสานเครือข่าย และปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ในพื้นที่” โดยวิทยากรจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 5 ท่าน
1. รร.วัดเทพกระษัตรี พบปัญหากลุ่ม นร.ชั้นป.5-6 (ส่วนใหญ่เป็นนร.ชาย) มีพฤติกรรมลักเล็กขโมย ใช้ความรุนแรงต่อรุ่นน้อง และการทุจริตในการสอบ จึงคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ แต่ปัจจุบันได้ขยายกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นป.4- 6
2. รร.วัดมงคลวราราม พบปัญหากลุ่ม นร.ชั้นป.ตอนปลาย มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย จึงคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ
3. รร.เกาะสิเหร่ พบปัญหาจากการเป็น รร.ขยายโอกาส เช่น ปัญหายาเสพติด คุณแม่วัยใส และปัญหาที่เกิดจากความหลากหลายของเชื้อชาติของนักเรียน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของรร.ยังตั้งอยู่ใกล้แหล่งพื้นที่มั่วสุม
4. รร.เฉลิมพระเกียรติฯ ภูเก็ต เดิมมีปัญหาด้านสภาพแวดล้อม(ป่าชายเลน) แต่ รร.ได้มีการปรับภูมิทัศน์เพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ รร.ยังอยู่ในพื้นที่ของชุมชนที่มีปัญหาด้านยาเสพติด ในลำดับต้นๆของจ.ภูเก็ต โดยรร.ได้มีโมเดลการป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยการ “สร้าง ซ่อม เสริม” อาศัยความร่วมมือระหว่างตัวแทนนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ไม่จี้จุดปัญหา แต่ผ่านกระบวนการเบี่ยงเบนซึ่งกำหนดกิจกรรมว่ากลุ่มเป้าหมายใด เหมาะสมกับกิจกรรมรูปแบบใด ภายใต้ชื่อโมเดล “มุกดี ศรีนครินทร์”
5. กศน.ภูเก็ต กลุ่มนักเรียนที่เรียน กศน. มีช่วงอายุที่ต่ำกว่าที่ผ่านมา และภาพรวมของประเทศ โดยกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เคยออกจากระบบการศึกษาปกติ และออกมาจากระบบพัฒนาพฤตินิสัย สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ เมื่ออกจากระบบดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของภาคปกติได้ทำให้เกิดการขาดช่วง กศน.จึงต้องรับภาระในการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มคนดังกล่าว
ดังนั้น จากการดำเนินการอภิปราย ทั้ง 2 หัวข้อในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของแต่ละ รร.ในพื้นที่ รวมถึงความพยายามในการจัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาผ่านการประสานเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยแต่ละรร.อาจมีกลุ่มเป้าหมายที่เหมือนหรือแตกต่างกันออกไป ซึ่งสอดรับกับการแปลงนโยบายโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์สู่การปฏิบัติซึ่งหน่วยงานสังกัด ยธ.ในพื้นที่ก็มีความพยายามในการป้องกันเด็กและเยาวชนตามช่วงอายุต่างๆ ไม่ให้เข้ามาเป็นกลุ่มเป้าหมายในกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานนั้นๆ จึงได้กำหนดและดำเนินกิจกรรม เพื่อมุ่งหวังให้ประสบความสำเร็จดังเป้าหมายข้างต้น ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนภายใต้การบูรณาการเครือข่ายที่เหมาะสมตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการในอานาคตต่อไป
77 Views