วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 – 12.00 น. นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติชั้น 4
สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
1. ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ดังนี้
1.1 คำสั่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกลุ่มผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ คัดกรองผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อสังคมหลังปล่อย การจัดวางระบบฐานข้อมูล รวมถึงประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองอธิบดีกรมคุมประพฤติเป็นผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจฯ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์เฉพาะกิจฯ ดังกล่าว
1.2 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งมีอธิบดีกรมคุมประพฤติเป็นประธาน และรองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน อำนวยการ กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่กำหนดไว้
1.3 คำสั่งการเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติระดับจังหวัด (กพยจ.) ดำเนินการประสานงานกับส่วนราชการมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดฝ่ายทหาร และยุติธรรมจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยอันตรายต่อสังคมภายหลังปล่อย โดยให้ยุติธรรมจังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ และบริหารจัดการกลุ่มผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษในพื้นที่ รวมถึงรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
2. แนวทางในการติดตามผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ โดยแบ่งผู้กระทำความผิดออกเป็น 7 กลุ่ม คือ ข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเด็ก, ฆ่าข่มขืนหรือข่มขืนในลักษณะทารุณโหดร้าย, ฆาตกรต่อเนื่อง, ฆาตกรโดยสันดาน กระทำผิดซ้ำซาก รุนแรง, ฆาตกรโรคจิต, ฆาตกรที่มีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ (ฆ่าเด็ก/ฆาตกรรมหมู่) และนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ โดยกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และแจ้งข้อมูลต่อศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC) เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล จากนั้นศูนย์ JSOC จะทำการคัดกรอง และส่งข้อมูลบุคคลดังกล่าวไปยัง กพยจ./กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อเฝ้าระวัง โดยบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 บุคคลที่ยินยอมให้ติดตามหรือสงเคราะห์ ประเภทที่ 2 บุคคลที่ไม่ยินยอมให้ติดตาม หรือสงเคราะห์ สำหรับบุคคลประเภทที่ 1 จะรายงานผลการดำเนินการต่อศูนย์ JSOC ทุกๆ 15 วัน และประเภทที่ 2 จะรายงานผลการดำเนินการต่อศูนย์ JSOC ทุกๆ 7 วัน กรณีที่ไม่พบบุคคลทั้ง 2 ประเภท ทางกพยจ./กองบัญชาการตำรวจนครบาลจะต้องรายงานในทันที เพื่อให้ศูนย์ JSOCแจ้งต่อ กพยจ.ทุกจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อจัดชุดในการติดตามต่อไป เมื่อพบแล้วให้ติดตามเฝ้าระวังและให้ กพยจ. รายงานต่อ ศูนย์ JSOC ทุกๆ 3 วัน
2.1 จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์พบว่าบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watch List) หลังจากที่พ้นโทษไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 – 2563 มีจำนวนประมาณ 100 คน ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์จะรวบรวมข้อมูลสถิติย้อนหลังเป็นระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน) และส่งให้ฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลต่อไป
3. ที่ประชุมเห็นควรดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้
3.1 ศึกษาถึงกำหนดระยะเวลาที่จะต้องติดตามบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watch List) ถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการติดตามเฝ้าระวัง โดยมอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมดำเนินการ
3.2 กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อความปลอดภัย และอำนาจที่จะใช้ในการติดตามบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากพ้นโทษแล้ว
3.3 การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 หมวด 6 การสงเคราะห์ ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการสงเคราะห์ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ สามารถเสนอข้อมูลเพิ่มเติมหรือกฎหมายที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมมายังฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาในครั้งถัดไป
3.4 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานขอข้อมูลจากศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (DXC) เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลแต่ละบุคคลที่อยู่ในการเฝ้าระวัง (Watch List)
3.5 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการศึกษาแนวทางในการจัดการข้อมูล การส่งต่อข้อมูลระหว่างศูนย์ JSOC และ กพยจ. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกรมคุมประพฤติจะดำเนินการแจ้งให้ กพยจ. เข้าใจแนวทางในการดำเนินงานของศูนย์ JSOC ในโอกาสต่อไป