วันที่ 3 ธันวาคม 2563 พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วย นางอุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผอ.กนป. นายดนุพล ชื่นอารมณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และนางสาวปริยานุช จริงจิตร ผอ.กยธ. เข้าร่วมต้อนรับ และนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานกิจการยุติธรรม ต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เข้าศึกษาดูงานการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 กระทรวงยุติธรรม โดยมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกิจการยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
สำหรับการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานกิจการยุติธรรมในประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจ ประกอบด้วย 4 ประเด็น
1. บทบาท อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) นโยบายสำคัญที่ กพยช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นนโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานของอนุกรรมการภายใต้ กพยช. ซึ่งในปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการ ทั้งสิ้นจำนวน 10 คณะ
2. สาระสำคัญและการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เพื่อเป็นกรอบแนวทางประสานความร่วมมือ การวางแผนและขับเคลื่อนการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมของประเทศระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดทำแผนแม่บทฯ ได้ถอดประเด็นจากยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การกำหนดยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ คือการบริหารงานยุติธรรมมีธรรมาภิบาลและทันสมัย สร้างสังคมไทยเคารพกฎหมาย มีความปลอดภัยและสงบสุข นอกจากนี้ในแต่ละยุทธศาสตร์ยังได้มีการกำหนดจุดเน้นและโครงการสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผน
3. แนวทางการดำเนินงานของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม : Data Exchange Center (DXC) ในการส่งเสริมบูรณาการให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมาตรฐาน ปัจจุบันมีหน่วยงานร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล จำนวน 25 หน่วยงาน เชื่อมโยง 40 ฐานข้อมูล
4. หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้จัดฝึกอบรม จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ (1)หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง (2)หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (3)หลักสูตรการป้องกันอาชญากรรมกับการอำนวยความยุติธรรมในสังคม และ (4)หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในประเด็นที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมให้สามารถเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยอาจพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นการเฉพาะ ภายใต้พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 การพัฒนาการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลรวมถึงปัญหาและอุปสรรค และจะจัดส่งให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในประเด็นการป้องกันอาชญากรรมควรเน้นการให้ความรู้กับประชาชนในรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น สื่อ Infographic และการอบรมให้ความรู้บุคลากรที่เกี่ยวข้องผ่านหลักสูตรในกระบวนการยุติธรรม การพัฒนาประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟู และสงเคราะห์ผู้กระทำผิด พัฒนาระบบติดตามผู้พ้นโทษ เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ โดยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดแทนการควบคุมตัวเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกฎหมายที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการให้สังคมเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม การพัฒนาแนวทางการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การขึ้นทะเบียนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามพ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ควรส่งเสริมให้เกิดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพ.ร.บ.ฯ อย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดผลในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลได้