สกธ.ร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม

Cover for Web 10

 

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 412 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ. สกธ. ได้มอบหมายให้นายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. กับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยมีนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ เป็นประธานในการประชุม โดยสรุปประเด็นการประชุมได้ดังนี้
ประเด็นพิจารณา
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ในรายมาตรา โดยมีประเด็นสำคัญคือให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มีหน้าที่ต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินงานเท่าที่จะสามารถทำได้ และให้ประกาศเผยแพร่ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่าย
ประเด็นข้อสังเกตจากที่ประชุม
(1)สำนักงานศาลปกครองมีกฎหมายภายในอยู่แล้ว การกำหนดระยะเวลาอาจไปก้าวล่วงดุลพินิจของตุลาการศาลปกครองได้ และการกำหนดโทษทางวินัยไว้ในมาตรา 7 วรรคท้ายอาจจะบังคับใช้ไม่ได้กับศาลปกครองเพราะศาลปกครองไม่มีผู้บังคับบัญชา ถ้าจะคงไว้ อาจต้องให้มีการยกเว้นศาล
(2)กำหนดระยะเวลา 90 วัน หน่วยงานสามารถไปดำเนินการได้ทันในระยะเวลาเหล่านี้หรือไม่ แม้ว่าบางหน่วยงานจะมีกฎหมายลำดับรองของตนอยู่แล้วก็ตาม
ในมาตรา 4 เป็นวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งไม่ควรเอามาใส่ในเลขมาตรา ควรไปไว้ในคำปรารภมากกว่า
(3)ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มีความแตกต่างกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เพราะในพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ไม่ได้ครอบคลุมถึงกระบวนการพิจารณาของศาล
(4)ในมาตรา 11 การกำหนดให้มีการปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาให้เหมาะสม อย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี อาจไม่เหมาะสม เพราะหากเจอข้อผิดพลาดต้องดำเนินการทันที และอาจไปติดปัญหาในเรื่องกระบวนการของผู้รับผิดชอบได้
(5)ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับ มีเพียงการกำหนดโทษทางวินัยในมาตรา 7
(6)เหตุใดมาตรา 5(7) ถึงบัญญัติว่าเป็นคณะกรรมการไม่ใช่สำนักงานเหมือนมาตรา 5(5)(6)
(7)กรณีศาลรัฐธรรมนูญโดยปกติประชาชนไม่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เหตุใดจึงกำหนดศาลรัฐธรรมนูญไว้ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้
(8)ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ไม่ได้มีการกำหนดหน่วยงานหรือคณะกรรมการที่เป็นตัวกลางในการประสานงาน และหน่วยงานต่างๆ ก็มีกฎหมายของตนอยู่แล้ว การมีกฎหมายฉบับนี้จะมีการใช้บังคับอย่างไร ซึ่งมีการชี้แจงว่ากระทรวงยุติธรรมได้มี กพยช. ที่ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแล้ว อาจให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งถ้าเช่นนั้นอาจต้องไปปรับมาตรา 12 หรือไม่
(9)ในมาตรา 6 วรรคสองให้บุคคลใดเป็นผู้ประกาศต่อประชาชนและประกาศอย่างไร ผู้ชี้แจงได้มีการชี้แจงว่าให้ใช้สื่อในการเผยแพร่ในลักษณะ infographic คล้ายกับของ สกธ.
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำข้อสังเกตเพื่อเตรียมไปชี้แจงต่อสภาในลำดับต่อไป

83 Views