ประชุมพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา

Cover for Web 21

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 1 (JA 1) พ.ต.ท. ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ. สกธ. ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา กรณีการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยมีนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผอ. สกธ. เข้าร่วมประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และสภาทนายความ โดยประเด็นพิจารณาและข้อเสนอแนะ กรณีการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ให้ระบบการฎีกาคำพิพากษาเป็นระบบผสมผสาน โดยรวมทั้งระบบฎีกาแบบสิทธิและแบบอนุญาตเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดทุนทรัพย์ขั้นต่ำและทุนทรัพย์ขั้นสูงในการฎีกา 

 2. ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ควรมีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ชัดเจน

 3. กรณีคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขัดกัน มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 13(1) บัญญัติเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงเห็นควรต้องมีการประสานให้ศาลอุทธรณ์มีการทำความเห็นแย้งให้สอดคล้องตามเงื่อนไขที่สามารถอนุญาตให้ฎีกาได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นว่าการแก้ไขปรับปรุงระบบการอนุญาตฎีกาควรให้มีการนำข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 และประเด็นปัญหาเรื่องคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขัดกัน มากำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในเรื่องระบบฎีกาแบบผสมโดยยังคงการกำหนดทุนทรัพย์ขั้นต่ำและขั้นสูงในการฎีกาประกอบกับการใช้ระบบอนุญาต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการฎีกาคำพิพากษาโดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างสิทธิของประชาชนกับการบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดปริมาณคดีอย่างเหมาะสม

149 Views