เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ รัฐสภา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการออกหมายจับ และการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือศาล กรณีที่ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายใดๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีนายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเรื่องเพื่อพิจารณา เป็นการขอรับฟังข้อมูล เพื่อประกอบการศึกษากำหนดแนวทางการปฏิรูปการออกหมายจับ และการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในขั้นสอบสวนหรือศาลฯ สรุป ดังนี้ 1. การศึกษาแนวทางการปฏิรูปการออกหมายจับ ตามมาตรา 66 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อเสนอที่ประชุม เห็นควรเพิ่มกระบวนการในการกลั่นกรองข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก่อนการขอออกหมายจับ 2. การศึกษาแนวทางการปฏิรูป การไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือศาล ตามมาตรา 108/1ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ประชุมโดยผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 108/1ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มุ่งเน้นที่ให้มีการปล่อยตัวเป็นหลักและจะขังในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และจากสถิติข้อมูลในแต่ละปีที่ผ่านมา มีการสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว มากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนคำขอทั้งหมด และปัจจุบันศาลยุติธรรมได้มีการนำวิธีการประเมินความเสี่ยงมาใช้ประกอบในการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวควบคู่ไปด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอว่าหากนำวิธีการประเมินความเสี่ยงของศาลยุติธรรมดังกล่าวมากำหนดไว้ในกฎหมายด้วยจะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ มอบให้ผู้แทนในคณะอนุกรรมาธิการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากการประชุม มาทบทวน ศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมจัดทำรายงานผลการดำเนินการเสนอคณะกรรมกาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ข่าวกิจกรรม
สกธ.ร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการออกหมายจับและการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือศาล
90 Views