สกธ.ประชุมทางไกลเปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงโทษประหารชีวิต

cover for web2 19

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ผอ.สกธ. ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงโทษประหารชีวิตโดยวิธีการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Cicso Webex Meetings ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของ สวพ. โดยมีรอง ผอ. สกธ. (นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม อาทิ ศาลมณฑลทหารบกที่ 42  อัยการจังหวัดสงขลา ตำรวจภูธรภาค 9 ยุติธรรมจังหวัดสงขลา เรือนจำกลางสงขลา ทัณฑสถานหญิงสงขลา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา เป็นต้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ผ่านระบบ Cisco Webex ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ ศาตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วศิน สุวรรณรัตน์ (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เป็นวิทยากรในการบรรยายเกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับการนำโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กรณีฐานความผิดที่มีความร้ายแรง รวมถึงกรณีศึกษาของอาชญาวิทยา การลงโทษ การบริหารโทษและการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในบริบทของสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ความเห็น ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกเลิกหรือคงไว้ซึ่งบทบัญญัติที่มีฐานความที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวทั้ง 11 ฐานความผิด ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับความมั่นคงและชีวิต/ร่างกาย ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความผิดเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราเด็กจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย ให้คงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตสถานเดียว แต่ฐานความผิดอื่น ๆ เช่น ฐานความผิดเกี่ยวกับการปล้นหรือชิงทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น อาจปรับเป็นโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตได้ ทั้งนี้ การคงไว้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตในแต่ละฐานความผิด ควรคำนึงถึงสิทธิและการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาความรู้สึกสูญเสีย หรือการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ สวพ.จะได้สรุปรวบรวมประเด็นที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ตั้งแต่การประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสงขลา และประมวลผลเพื่อเสนอต่อผู้บริหาร ยธ. หรือ กพยช. ต่อไป

86 Views