สกธ. เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….ร่วมกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ

cover for web3 26


วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ.สกธ.ได้มอบหมายให้นายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. กับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยมีนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ เป็นประธานในการประชุม โดยมีประเด็นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ในภาพรวมโดยร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ มีประเด็นสำคัญคือให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 5 มีหน้าที่ต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่าที่จะสามารถทำได้ และให้ประกาศเผยแพร่ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่าย

ประเด็นข้อสังเกตจากที่ประชุม

1. ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังคงไม่มีสภาพบังคับ มีเพียงการกำหนดโทษทางวินัยในมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ มีผลใช้บังคับอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้

2. ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ไม่ควรมีหน่วยงานกลางในการดำเนินการ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีมาตรฐานการทำงานที่แตกต่างกัน และอาจไม่สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

3. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ คือ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการที่จะสามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมได้ และเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานไปพิจารณาทบทวนกรอบระยะเวลาที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ชัดเจนแล้วหรือไม่ และหากไม่มีการกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนใด ก็จำเป็นต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนในลักษณะของการระบุเป็นจำนวนวันมากกว่าการกำหนดไว้ในลักษณะให้ดำเนินการโดยเร็ว

4. ประเด็นหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ มีข้อสังเกตกรณีหน่วยงานศาลที่มีการกำหนดวิธีพิจารณาในแต่ละศาลอยู่แล้ว การจะต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้อาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ และเห็นควรให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายต่อไป

 

116 Views