สกธ.เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ​ศึกษา กำหนดแนวทางการออกแบบสถานที่ควบคุม คุมขัง ครั้งที่ 3 / 2564

Cover for web 4 06


เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 – 12.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ​ศึกษา กำหนดแนวทางการออกแบบสถานที่ควบคุม คุมขัง ครั้งที่ 3 / 2564 โดยมีนายพิษณุโรจน์ พลับรู้การ เป็นประธานการประชุม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผอ.สวพ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการฯ ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี ผูัแทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการออกแบบเรือนจำ (Prison design) ว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย และเห็นควรให้ความสำคัญกับประเด็น

1) การออกแบบโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนชองผู้ต้องขัง  เช่น ในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ใช้สอย และพี้นที่นอนของผู้ต้องขัง

2) การออกแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหา (Pain Point) ของเรือนจำรูปแบบเดิม เช่น การปรับรูปแบบเรือนนอนเพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำ การออกแบบแดนกักโรค และการแยกผู้ต้องขังเด็ดขาด และผู้ต้องขังระหว่างออก จากกัน เป็นต้น

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างข้อเสนอแนะในการพัฒนาการดำเนินงานด้านการออกแบบสถานที่ควบคุม/ คุมขังของกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และได้ร่วมหารือแนวทางในการนำข้อเสนอแนะระยะสั้นของคณะกรรมการฯ มาปรับใช้กับเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ที่จะได้มีการก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์  และการขยายแดนเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี  โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า ในส่วนของแบบเรือนจำทั้ง 2 แห่ง ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำราคากลางนั้น อาจไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากจะใช้เวลามาก และอาจไม่ทันต่อความต้องการใช้งานเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ จึงจะดำเนินการแก้ไขเฉพาะในส่วนที่สามารถแก้ไขได้ในกระบวนการบริหารสัญญา

ในการนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรมีการประชุมอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น. เพื่อพิจารณาข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และให้ฝ่ายเลขานุการ จัดทำบันทึกสรุปการดำเนินงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ เสนอต่อ ปยธ. เพื่อพิจารณาต่อไป

103 Views