สกธ.เข้าร่วมชี้แจง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯครั้งที่ 13และ14 ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11)

Cover for web 4 11


เมื่อวันที่ 8 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2) นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams (ครั้งที่ 13-14) โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมการที่ให้ความเห็นไว้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้ดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ดังนี้

หมวด 2 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 13-ร่างมาตรา 16)

หมวด 3 การเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 17-ร่างมาตรา 23)

หมวด 4 การคุมขังภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 24-ร่างมาตรา 25)

หมวด 5 การคุมขังฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 40-ร่างมาตรา 43)

หมวด 6 การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง (ร่างมาตรา 44-ร่างมาตรา 46)

หมวด 7 การอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 47)

ที่ประชุม ได้มีข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ การปฏิบัติ/บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กรมคุมประพฤติ และกรมราชทัณฑ์ รวมถึงความสอดคล้อง/ขัดหรือแย้ง กับกฎหมายฉบับอื่น เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น อีกทั้งการกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้แก่ มาตรการทางการแพทย์ (รวมถึงการใช้ยาและสารเคมี) และมาตรการอื่นตามกฎกระทรวง การกำหนดเงื่อนไขการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมเสี่ยง เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) รวมถึงระยะเวลาในการเฝ้าระวัง จากเดิมเสนอว่าไม่เกิน 15 ปี กรรมการขอแก้ไขเป็นไม่เกิน 10 ปี และเพิ่มเติมคณะอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่จำแนกนักโทษเด็ดขาดเพื่อกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ซึ่งประเด็นข้างต้น มีความสำคัญต่อการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติฯอย่างยิ่ง และจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้กำหนดวันประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น.

99 Views