เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2)ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams (ครั้งที่ 15)
โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมการที่ให้ความเห็นไว้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้ดำเนินการพิจารณารายมาตรา ดังนี้
1. หมวด 4 การคุมขังภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 26-ร่างมาตรา 31) ประเด็นสำคัญในการพิจารณาให้ข้อสังเกต
และข้อเสนอแนะ ดังนี้
– กรณีฝ่าฝืนเงื่อนไขเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ศาลมีคำสั่งคุมขังผู้ถูกเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำได้
– กรณีผู้ถูกเฝ้าระวัง ไม่มาตามหมายเรียก หมายนัด หรือหลบหนี ศาลมีอำนาจออกหมายจับได้
– คำสั่งคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ให้มีระยะเวลา 3 ปี (คำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ และคำสั่งเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ให้นับรวมกันไม่เกิน 10 ปี)
– ให้กรมราชทัณฑ์ บังคับตามคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ และจัดทำรายงานทุก 6 เดือน และคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน
2. หมวด 5 การคุมขังฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 40-ร่างมาตรา 44) ประเด็นสำคัญในการพิจารณาให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ ดังนี้
– คำสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวัง ให้มีระยะเวลา 7 วัน
– ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอสำนวนความเห็นให้พนักงานอัยการ เพื่อแก้ไขเงื่อนไขเฝ้าระวัง หรือขอให้มีการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
ที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และกำหนดการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 15 วันที่ 16 และวันที่ 18 พ.ย. 2564