วุฒิสภามีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ เพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จาก 10 ปี ไปเป็น 12 ปี

Cover For web 01 1

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ในการประชุมวัฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงต่อที่ประชุมวุฒิสภา เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา 73 และมาตรา 74 โดยการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จาก 10 ปี ไปเป็น 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางการแพทย์ พัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ การคิด วิเคราะห์ และด้าน กาย จิต สังคม ของเด็ก รวมไปถึงเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และพัฒนามาตรการและวิธีการปฏิบัติต่อเด็ก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน เพราะการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นผลเสียมากกว่าผลดี ใน 3 มิติ ได้แก่ ต่อตัวเด็ก ต่อครอบครัวและสังคม และต่อประเทศชาติ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ จำนวน 180 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ จำนวน 33 คน
ในการประชุม สมาชิกวุฒิสภาได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตที่สำคัญต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และกระบวนการสงเคราะห์คุ้มครองเด็ก ทั้งนี้ นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ชี้แจงและตอบข้อสังเกตของสมาชิกวุฒิสภา ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1) ประเด็นการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งต้องคำนึงถึง ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเด็กและสภาพแวดล้อม รวมถึงขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของส่วนราชการในการปฏิบัติต่อเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา 2) เด็กที่อาจได้รับประโยชน์จากกฎหมาย และต้องส่งต่อเด็กจากกระบวนการยุติธรรม ไปยังกระบวนการสงเคราะห์คุ้มครอง 3) การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก และ 4) การใช้เด็กกระทำความผิด
79 Views