สกธ.ชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ครั้งที่ 20

Cover For web 01 5
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2) นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams (ครั้งที่ 20)
การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวาระที่ 2 โดยการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯที่ฝ่ายเลขานุการ ได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงการทบทวนความเหมาะสมของร่าง พ.ร.บ.ฯ ภาพรวมทั้งฉบับ โดยมีความคืบหน้าในการตรวจพิจารณา จำนวน 8 มาตรา ดังนี้
▪️ หมวด 2 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 14-ร่างมาตรา 17)
▪️ หมวด 3 การเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 18-ร่างมาตรา 21)
ประเด็นสำคัญจากการประชุม
– การปรับแก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติฯ และชื่อหมวด ให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
– การใช้มาตรการทางการแพทย์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดเสียก่อน
– การกำหนดเงื่อนไขในการเฝ้าระวังโดยมาตรการที่ใช้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมเสี่ยง ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ รวมถึงการติดกำไล EM เป็นต้น ซึ่งพิจารณาเพิ่มเติม เรื่องอื่นๆ เช่น ห้ามเข้าที่กำหนด ห้ามก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น
– ระยะเวลาในการเฝ้าระวัง 5 ปี (ยธ. เสนอ 15 ปี)
– หลักการใช้มาตรการตามร่างกฎหมาย จะดำเนินการในระบบคำสั่ง กล่าวคือ ศาลต้องมีคำสั่ง
– การจัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด
– การพิจารณาเพิ่มเติมหมวด 1/1 เกี่ยวกับคณะกรรมการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการใช้มาตรการเฝ้าระวัง
นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น.
107 Views