
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2) ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมทางไกล VDO Conference (ครั้งที่ 21)
การประชุมครั้งนี้ เป็นกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวาระที่ 2 โดยการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯที่ฝ่ายเลขานุการ ได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงการทบทวนความเหมาะสมของร่าง พ.ร.บ.ฯ ภาพรวมทั้งฉบับ โดยมีความคืบหน้าในการตรวจพิจารณา การปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างมาตรา จำนวน 9 มาตรา สรุปประเด็นการพิจารณาและข้อคิดเห็นที่สำคัญ ดังนี้

ประเด็นหลักการ และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับหลักการเรื่อง ลดโทษ และพักการลงโทษ

มาตรา 21 เรื่องคณะกรรมการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการใช้มาตรการเฝ้าระวัง ฝ่ายเลขานุการ ควรเป็น กรมราชทัณฑ์ หรือ กรมคุมประพฤติ

มาตรา 22 การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งมาตรการเฝ้าระวัง และข้อบังคับของอัยการสูงสุดที่ต้องออกอนุบัญญัติ

มาตรา 23 กระบวนการไต่สวนของศาลที่มีผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วม (ที่ประชุมเห็นควรให้ตัดออก)

มาตรา 24 กรมคุมประพฤติรับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศของศูนย์ JSOC

มาตรา 25 การแก้ไขเพิ่มเติม ลด ขยาย หรือยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ

มาตรา 26 การคุมขังนักโทษเด็ดขาดตั้งแต่วันพ้นโทษหรือภายหลังพ้นโทษ

มาตรา 27 รายงานการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ

มาตรา 28 การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเฝ้าระวัง

มาตรา 29 กรณีผู้ถูกเฝ้าระวัง ไม่มาศาลตามหมายเรียกหรือหมายนัด โดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจไม่รับหมายเรียก หลบหนี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ศาลมีอำนาจออกหมายจับได้
ทั้งนี้ นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 วันที่ 30 พฤศจิกายน และวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 น.
87 Views