สกธ.เข้าร่วมชี้แจง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ครั้งที่ 21

Cover for web 4 15

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2) นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams (ครั้งที่ 22)

📍 ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา จำนวน 12 มาตรา ได้แก่ ร่างมาตรา 30 – ร่างมาตรา 41 โดยเป็นการพิจารณาภาพรวมทั้งฉบับ (รอบที่ 2) เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากมีการแก้ไขในหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ทางฝ่ายเลขานุการฯ จึงยังคงกระบวนการพิจารณาไว้ที่วาระที่ 2 คือ การตรวจพิจารณารายมาตรา โดยครั้งต่อไปจะได้กลับมาพิจารณาทบทวนร่างฯ ตั้งแต่ร่างมาตรา 1 เป็นต้นไปอีกครั้ง

📍 ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบด้วย 41 มาตรา จำนวน 7 หมวด ดังนี้
-หมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 6 – ร่างมาตรา 13)
-หมวด 2 คณะกรรมการพิจารณามาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 14 – ร่างมาตรา 16)
-หมวด 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 17 – ร่างมาตรา 19)
-หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 20 – ร่างมาตรา 25)
-หมวด 5 มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 26 – ร่างมาตรา 33)
-หมวด 6 มาตรการคุมขังฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 34 – ร่างมาตรา 38)
-หมวด 7 การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งมีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 3 (ร่างมาตรา 39)
-หมวด 8 การอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 40)
-บทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 41)

📍 ข้อสังเกตจากการประชุมที่มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. เรื่อง ชื่อกฎหมาย เดิม “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” แก้ไขเป็น “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….”
2. เรื่อง ระยะเวลาในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
– การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (เช่น ติดกำไล EM ห้ามกระทำผิดซ้ำ ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้ไปบำบัดรักษาฯ) เดิม กำหนดไว้ 10 ปี ปรับแก้ไขเหลือ 5 ปี
– การคุมขังภายหลังพ้นโทษ ระยะเวลา 3 ปี (คงเดิม/ไม่มีแก้ไข)
– การคุมขังฉุกเฉิน ระยะเวลา 7 วัน (คงเดิม/ไม่มีแก้ไข)
– การนับรวมระยะเวลาทุกมาตรการ เดิม กำหนดไว้ 15 ปี ปรับแก้ไขเหลือ 5 ปี (ตัวอย่างเช่น ศาลสั่งคุมขังพ้นโทษ 3 ปี และสั่งเฝ้าระวังต่อได้ 2 ปี รวมเป็น 5 ปี)
3. เรื่อง กำไล EM เดิม กำหนดเป็นมาตรการหลักในการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ปรับแก้ไขเป็น ตัวเลือกหนึ่งในมาตรการเท่านั้น (ศาลจะสั่งติดกำไล EM หรือไม่สั่งก็ได้)
4. เรื่อง การเริ่มใช้บังคับกฎหมาย จะครอบคลุมถึงคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาล และนักโทษเด็ดขาดที่ยังอยู่ในเรือนจำและจะได้รับการปล่อยตัว ด้วยหรือไม่ (ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยอาจต้องขอรับนโยบายจากกระทรวงยุติธรรม)

🗓 นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 น.

91 Views