การประชุมเพื่อพิจารณา (ร่าง) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 – 2569 และหารือแนวทางการประสานความร่วมมือ

Cover For web 05 1

วันที่ 30 ธันวาคม  2564 เวลา 10.00- 12.00 น. การประชุมเพื่อพิจารณา (ร่าง) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 – 2569 และหารือแนวทางการประสานความร่วมมือ โดยวิธีการประชุมทางไกล (Video Conference)ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯพร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และเครือข่ายวิชาการด้านนิติศาสตร์ เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเพื่อเติม ต่อ (ร่าง) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 -2569 ซึ่งประกอบด้วย 5 กรอบการวิจัย ดังนี้

1) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา

2) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและปกครอง

3) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมาย  (Better Regulation)

4)กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการยุติธรรม

5)กรอบการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการพัฒนา (ร่าง) กรอบการพัฒนางานวิจัยในกระบวนการยุติธรรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ที่สำคัญ ควรมีการพัฒนาชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่อาจมีความสอดคล้องกับกรอบการวิจัยมากกว่า 1 กรอบ เพื่อสร้าง impact ควรเชื่อมโยงกรอบการวิจัยฯ กับ SDG และให้ความสำคัญกับการสรางความยุติธรรมทางสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Social Inclusive Justice) และการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของสาธารณชน (PublicTrust in Justice) ในกรอบที่ 3 ควรเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวข้อการวิจัยที่สอดคล้องกับกรอบการวิจัยต่าง ๆ เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การขจัดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  และการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการออกกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม จะได้นำข้อเสนอแนะจากการประชุมฯ ไปใช้ในการปรับปรุงเอกสาร (ร่าง) กรอบการวิจัย เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 – 2569  ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเสนอต่อ ครม. เพื่อรับทราบ และประสานไปยังหน่วยงาน ผู้จัดสรรทุนวิจัยในกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต่อไป

122 Views