
วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม JA1 พ.ต.ท.ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมถ่ายทอดมุมมอง ประสบการณ์ และองค์ความรู้ ให้กับสํานักงานกิจการยุติธรรม (ครั้งที่ 1) โดยนายปกป้อง ศรีสนิท ที่ปรึกษาโครงการจ้างเหมาบริการผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาค้นคว้าและจัดเก็บข้อมูลความเห็นของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….
สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนข้อมูลในการประชุม ได้ดังนี้
1 ระยะเวลาในการใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่เหมาะสม อาทิ 5 ปี หรือ 10 ปี หรือ 15 ปี ควรมีข้อมูลทางวิชาการ กฎหมายต่างประเทศ และสถิติการกระทำผิดซ้ำสนับสนุน
2. ฐานความผิดตามร่างกฎหมาย
– ในการพิจารณาเพิ่มเติมฐานความผิดอื่น ๆ ผ่านการกำหนดเป็นกฎกระทรวง เช่น คดียาเสพติด คดีปล้นทรัพย์หรือชิงทรัพย์จนมีผู้เสียชีวิต (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 มาตรา 340) เป็นต้น
– ควรรวมความผิดในขั้นตอนการพยายามกระทำความผิดด้วย เช่น พยายามฆ่า เป็นต้น
3. การกำหนดเงื่อนไขเฝ้าระวัง โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ให้เป็นเงื่อนไขหลัก ใส่ทุกกรณีที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอาจต้องพิจารณาข้อเสนอแนะในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆเข้ามารองรับ นอกเหนือจากการติดกำไล EM
4. ชื่อร่างกฎหมาย เหมาะสมทั้งชื่อเดิม และชื่อที่ปรับแก้ไขโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
5. คณะกรรมการตามร่างกฎหมาย จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันการกระทํา ความผิดซ้ำ และคณะกรรมการพิจารณากําหนดมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ
– หากมีการปรับแก้ไข หมวด 2 คณะกรรมการพิจารณากําหนดมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 16-17) ต้องแก้ไขร่างมาตรา 23 กระบวนการยื่นคำร้องขอเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษต่อศาลไปพร้อมกันด้วย
6. สิทธิของผู้เสียหาย ผู้ที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมาย (ร่างกฎหมายเดิม มีกำหนดไว้)
7. ข้อจำกัดเรื่องการกักกัน คือ ใช้ทุกประเภทคดี และต้องทำผิดซ้ำถึง 3 ครั้ง (ทำผิดติดเป็นนิสัย) แต่การใช้มาตรการตามร่างกฎหมายได้พิจารณาตามความรุนแรงของการกระทำผิด และความเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำ ประการที่สำคัญ คือ การป้องกันความเสียหายของสังคม
8. การคุมขังภายหลังพ้นโทษ เห็นควรเสนอให้ศาลมีคำสั่งพร้อมกับการมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ถูกฟ้องร้อง (คดีหลัก)
9. การคุมขังฉุกเฉิน และการจับผู้ถูกเฝ้าระวัง โดยห้ามควบคุมเกิน 48 ชั่วโมง ตามมาตรา 78 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอาจเพิ่มเติมให้พนักงานคุมประพฤติสามารถจับกุมได้
10. นโยบายความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ การบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ เพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง อาทิ การพักโทษ การลดโทษ และการอภัยโทษ ประเด็นการบังคับโทษเต็มตามคำพิพากษา ที่อาจส่งผลต่อความจำเป็นในการมีกฎหมายฉบับนี้
11. เรื่องอื่นๆ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย สิทธิประโยชน์ สถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษ (ระยะแรก เสนอให้ใช้สถานที่กักกัน) เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการประชุมในวันนี้ สกธ. จะได้นำไปใช้ และจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ในชั้นสภาผู้แทนราษฏรตามขั้นตอนต่อไป
118 Views