สกธ.ร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 4

Cover for web 4 37

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 4 โดยมีผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม ได้แก่ นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโทมนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ที่ปรึกษากรรมาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และมีประเด็นข้อสังเกตที่สำคัญต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ประเด็นที่กรรมาธิการตั้งข้อสังเกต/สงวนความเห็น
1. ร่างมาตรา 1 เสนอแก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติจากเดิม “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” เสนอแก้ไขเป็น “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือความผิดอื่นที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” 2. ร่างมาตรา 3 เรื่องการเพิ่มเติมฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 295 ทำร้ายร่างกาย มาตรา 312 เอาบุคคลลงเป็นทาส หรือค้าทาส 3. ร่างมาตรา 8 เพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการป้องกันกากระทำความผิดซ้ำ โดยเสนอเพิ่มเติมผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน และตัดถ้อยคำว่า “ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ออก นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมเงื่อนไขให้กำหนดสัดส่วนของผู้ทรงภาครัฐและภาคเอกชนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 4. ร่างมาตรา 22 ตัดถ้อยคำว่า “หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้ยา” ออก 5. ร่างมาตรา 22 ร่างมาตรา 32 และร่างมาตรา 33 เรื่องระยะเวลาการใช้มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และระยะเวลาการใช้มาตรการรวมกันทั้งหมดในร่างกฎหมาย เดิมกำหนดระยะเวลานานที่สุดไว้ที่ 5 ปี เสนอแก้ไขเป็น 10 ปี
คำแปรญัตติ 1. เพิ่มเติมความในคำปรารภ โดยเสนอเพิ่มมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่อง ความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล 2. เพิ่มเติมความในร่างมาตรา 5 โดยต่อท้ายนิยามคำว่าคุมขัง “…แต่มิให้ใช้วิธีควบคุมหรือขัง เช่น นักโทษหรือจำเลย หรือผู้ที่อยู่ในอำนาจควบคุมหรือขังในชั้นสอบสวนโดยเด็ดขาด” 3. เพิ่มเติมความในร่างมาตรา 8 และมาตรา 16 โดยการเพิ่ม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้กำหนดให้มีการประชุมครั้งต่อไปในวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น.
133 Views