สกธ. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 2

Pic for web 5 55

วันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการ และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ  ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 2 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ผู้แทนของสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้นำเสนอภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้แก่ หลักคิด ที่มา เหตุผลประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ และสรุปสาระสำคัญ รวมถึงรายละเอียดและขั้นตอนภาพรวมตามร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
ได้เน้นย้ำความสำคัญว่า กระทรวงยุติธรรมมีความมุ่งมั่นในการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีหลักคิดที่สำคัญในการป้องกันสังคมจากการกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ซ้ำซาก การส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันสังคมและการคุ้มครองสิทธิอย่างเหมาะสม ที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมราชทัณฑ์ มาร่วมให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และตอบข้อชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นสำคัญ จากการประชุมที่คณะกรรมาธิการ และผู้แทนหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนและตั้งข้อสังเกตไว้ สรุปได้ดังนี้

1. การกำหนดฐานความผิดตามร่างมาตรา 3 ครอบคลุมแล้วหรือไม่เพียงใด

2. สถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษ ในระยะเริ่มต้น ใช้สถานที่กักกัน ที่จังหวัดนครปฐม

3. การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน  เช่น รายงานการเฝ้าระวัง สำนวนการเฝ้าระวัง หรืออื่นๆ ควรใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีระบบการส่งต่อข้อมูลที่ดีมีประสิทธิภาพ

4. แนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบกระบวนงานตามร่างกฎหมาย เช่น หมายขังภายหลังพ้นโทษ ต้องมีหรือไม่มีอย่างไร การบังคับตามบทเฉพาะกาล กรณีกฎหมายมีผลย้อนหลัง เป็นต้น

5. การทำความเข้าใจกับสังคม เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ต้องเน้นย้ำว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เพื่อความปลอดภัยของสังคม และมาตรการตามกฎหมาย ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย

6. ความพร้อมของหน่วยงาน อาทิ ศาลยุติธรรม มีการพัฒนาการทำงานโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ อัยการสูงสุด มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณา กำหนดวิธีการปฏิบัติ/ระเบียบข้อบังคับ หรือการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรมราชทัณฑ์ มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ อาทิ มาตรการทางการแพทย์ การประกาศสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษ งานทะเบียน การจำแนก และการพัฒนาโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะทาง และเครื่องมือที่ใช้ในการจำแนก เป็นต้น

7. ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในชั้นการตรวจพิจารณาร่าง บางประเด็นควรนำมาพิจารณาประกอบ เช่น

– มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษและการคุมขังฉุกเฉิน อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 29

– เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ส่วนที่ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัยแทนกฎหมายฉบับนี้

– การบังคับโทษทางอาญาตามคำพิพากษาให้มีประสิทธิภาพ

นัดประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคารรัฐสภา โดยจะเชิญผู้แทนกรมคุมประพฤติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต สภาทนายความ และแพทย์สภา เข้าร่วมชี้แจงให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง

88 Views