เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 9.30 น. ณ อาคารรัฐสภา พ.ต.ท. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ. สกธ. ได้มอบหมายให้นายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ในฐานะผู้ประสานงานในภาพรวมของกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม ได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กรมบังคับคดี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานที่มีการกำหนดระยะเวลาไว้และที่ยังไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา โดยสามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1.กรมราชทัณฑ์ มีการกำหนดระยะเวลาตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ การกำหนดระยะเวลาวินัยเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ส่วนการฎีกาทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาไว้
2.กรมบังคับคดี มีการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนในหลายส่วนตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่มีประเด็นเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการขายทอดตลาด
3.กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนในระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการบริหารงานคดีพิเศษฯ ประกอบกับปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการออกข้อบังคับคดีพิเศษ กำหนดระยะเวลาและการบริหารงานคดีพิเศษเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4.กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีการกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ
และพระราชบัญญัติการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนฯ
5.กรมคุมประพฤติ การกำหนดระยะเวลาเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติฯ ซึ่งได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบด้วย
6.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีการกำหนดระยะเวลาตามประเภทของการตรวจพิสูจน์ และจะมีการทบทวนใหม่ทุกๆ 1 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอชื่อนายมหัศจักร โสดี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเพิ่มเติม และกำหนดประชุมครั้งถัดไปในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565