สกธ. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 3

pic for web 6 03

วันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการ และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 3 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก่ กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯในประเด็นภาพรวม โดยยังไม่ได้พิจารณาลงรายละเอียดรายมาตรา ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

1. การใช้มาตรการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมถึงเรื่อง การรักษาโดยการพูดคุย การใช้ยาและฮอร์โมน และการช๊อตไฟฟ้า (วีธีการ ขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง)
2. การนำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ มาประกอบการพิจารณาการลดโทษ หรือการพักการลงโทษ จะทำให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเร็วขึ้นหรือไม่
3. การดําเนินการของคณะกรรมการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ และคณะกรรมการพิจารณากําหนดมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ (แนวทางปฏิบัติ และความเหมาะสมขององค์ประกอบ อาทิ ควรเพิ่มเติมผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการแพทย์สภา)
4. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC)
5. การทำสำนวนความเห็น หรือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน พนักงานคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
นัดประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคารรัฐสภา โดยจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานทางวิชาการ อาทิ สถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
136 Views