สกธ. ประชุมหารือร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ร่วมกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

Pic for web 5 59

วันที่ 23  มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม และคณะ ได้ประชุมหารือร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ร่วมกับ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะ โดยวิธีการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ cisco Webex Meeting การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ และการบังคับใช้กฎหมายตามบทบาทภารกิจของกรมราชทัณฑ์ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฯ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ในการจัดทำรายงานผลของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดพร้อมทั้งความเห็นของกรมราชทัณฑ์ เสนอต่อพนักงานอัยการเพื่อร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งนั้น กรมราชทัณฑ์ควรกำหนดแบบรายงานผลที่เป็นมาตรฐาน

2. ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด เห็นควรให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดพร้อมทั้งความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดรายใดควรใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยใช้แบบประเมินที่เป็นรูปธรรม และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

3. เห็นควรให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาหาสถานที่ในการใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพราะสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษนั้นจะต้องไม่ใช่เรือนจำ และต้องไม่ปฏิบัติกับผู้กระทำความผิดเยี่ยงนักโทษ อีกทั้ง มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษจะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันมิให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้

4. การคุมขังฉุกเฉิน เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมผู้ถูกเฝ้าระวังตามมาตรา ๓ แล้ว นั้น   กรมราชทันฑ์อาจปฏิบัติตามเดิมได้ กล่าวคือ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเป็นผู้รับตัวมายังเรือนจำเอง ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัด ตำรวจจะเป็นผู้ส่งตัวผู้กระทำความผิดมายังเรือนจำ

5. ในกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ในวันก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ กรมราชทัณฑ์ควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เช่น บุคคลที่กระทำความผิดในมาตรา ๓ เบื้องต้นมีกี่คน และมีผู้ใดบ้าง เป็นต้น

120 Views