วันที่ 29 มีนาคม 2565 เวลา 09.00-10.00 น. นางขัตติยา รัตนดิลก ผอ.สวพ. ได้ประชุมหารือร่วมกับท่านพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ปรึกษาชุดโครงการวิจัยเพื่อการหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการบริหารโครงการและดำเนินการวิจัยภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1.โครงการวิจัยการทบทวนกฎหมายหรือมาตรการที่นำมาใช้เพื่อเป็นการหันเหผู้กระทำผิดจากการควบคุมตัว: ก่อน ระหว่างและหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยควรศึกษาสาเหตุ เงื่อนไข สภาพแวดล้อม ลักษณะของการประทำความผิด ที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิด ของผู้กระทำความผิดรายบุคคล เช่น กรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในต่างประเทศ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินการ อาทิ การหาครอบครัวใหม่สำหรับผู้กระทำความผิด การย้ายสถานที่อยู่อาศัยของผู้กระทำความผิด เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
2. การศึกษามาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดทางอาญาแทนการควบคุมตัว (Non-custodial): แนวทางที่มีประสิทธิภาพของ Electronic Monitoring: EM ในการหันเหผู้กระทำผิดจากการควบคุมตัวก่อน ระหว่าง และหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ควรศึกษาประเภทของ EM ว่าในปัจจุบันมีรูปแบบ หรือลักษณะอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เช่น การฝังชิป หรือ บาร์โค้ด เป็นต้น
3.การศึกษาสถานการณ์และประเมินผลสำเร็จของมาตรการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของประเทศไทยในปัจจุบัน ควรศึกษาถึงรูปแบบของการไกล่เกลี่ย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงวามเป็นส่วนตัว และข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ และมีการแยกประเภทฐานความผิดของการไกล่เกลี่ยให้ชัดเจน ซึ่งในการไกล่เกลี่ยอาจดำเนินการในชุมชนที่ผู้เสียหายอยู่ หรือชุมชนอื่นที่มีความเป็นกลางในเรื่องที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ย ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาเป็นสำคัญ
4.แนวทางในการลดปริมาณคดีอาญาของกระบวนการยุติธรรม : บทบาทของยุติธรรมชุมชน ควรพิจารณาถึงรูปแบบว่าจะสามารถให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมได้มากน้อยพียงใด พร้อมทั้งควรศึกษาถึงลักษณะของชุมชน และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าคนในชุมชนมีทัศนคติอย่างไรกับการกระทำความผิด รวมถึงการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศที่อาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้
5.การเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยตัวชั่วคราว ควรศึกษาพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 รวมถึงการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่องของการประเมินความเสี่ยง
6.การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมาตรการการพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษ และ การอภัยโทษ : แนวทางการมีส่วนร่วมของตำรวจ อัยการ ศาล อาจพิจารณาเพิ่มเติมในการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ศาลเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาลดวันต้องโทษ ดังเช่น บางประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ศาลเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงการการลดวันต้องโทษด้วย
7.การศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนและเอกชนในการดูแลผู้กระทำผิด แนวทางการดำเนินการสำหรับผู้ที่พ้นโทษแล้ว เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ผู้นั้นกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้น จึงควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา หรือช่วยเหลือในการใช้ชีวิตหลังกลับเข้าสู่สังคม ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวสามารถดำเนินการให้คำปรึกษาได้ทั้งกระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการพิจารณาของศาล นอกจากนี้ ยังควรศึกษาเพิ่มเติมถึงความพร้อมของหน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชนจะรับผู้ที่พ้นโทษเข้าทำงาน รวมถึงทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษด้วย