วันที่ 30-31 มีนาคม 2565 สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 19 ในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรมกับความท้าทายในทศวรรษหน้า” โดยใช้การประชุมในรูปแบบ Online Event อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านช่องทาง ZOOM , FACEBOOK LIVE และ ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมทาง MCU CHANNAL ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสองวันจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม จำนวนมากกว่า 10,000 คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปรับกระบวนทัศน์ในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อประชาชนในการรองรับกับความท้าทาย
ในทศวรรษหน้า” โดยกิจกรรมในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. การกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมต่อสังคมโลกในปัจจุบัน และการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
2. เวทีเสวนาทางวิชาการ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากองค์กรหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา นักวิชาการและสื่อมวลชน มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมประชุม ผ่านการนำเสนอที่มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ เหลียวหลังแลหน้ามองกระบวนการยุติธรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือเมื่อโลกต้องเผชิญกับอาชญากรรมไซเบอร์ เทคโนโลยีกับกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจดิจิทัลทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมไม่ตกขบวน การมองอนาคตแบบ Futurist เพื่อสร้างความยั่งยืนของประเทศ และทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมทันต่อโลกสมัยใหม่
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมจะนำไปสู่การมองเห็นทิศทางการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรม ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านการบริหารงานยุติธรรมและกฎหมาย ผ่านคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ที่มีความสอดคล้องกับบริบทต่างๆ รวมถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อรองรับกับสถานการณ์ความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง