สกธ.เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 4

pic for web 6 05

วันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการ พร้อมด้วยนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงพ.ศ. …. ครั้งที่ 4 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม

การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันการศึกษา อาทิ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และหน่วยงานทางวิชาการ อาทิ สถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯในประเด็นภาพรวม โดยยังไม่ได้พิจารณาลงรายละเอียดรายมาตรา ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

1. เรื่อง หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ตามกฎหมายฉบับนี้ ควรเป็นไปตามหลักสากล และตามหลักประมวลกฎหมายอาญา โดยการให้สิทธิต่าง ๆ อาทิ ให้สิทธิต่อสู้คดี การเยียวยาและการคุ้มครอง และสิทธิในการมีทนายความ รวมถึงสิทธิด้านอื่น ๆ ด้วย

2. การมีผลย้อนหลังของกฎหมาย (บทเฉพาะกาล ให้ใช้กับคดีที่ค้างการพิจารณาในศาล และผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่อยู่ก่อนมีกฎหมายฉบับนี้ได้ด้วย) แม้มาตรการตามกฎหมายฉบับนี้ จะไม่ใช่การลงโทษ แต่การมีผลย้อนหลังของกฎหมายอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

3. การนำหลักสันนิษฐานตามกฎหมายอาญามาใช้ โดย “ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” โดยให้ใช้กับผู้ต้องคำสั่งตามกฎหมายฉบับนี้

4. ประเด็นอื่น ๆ ที่เคยได้หยิบยกมาพิจารณาไว้แล้ว ได้แก่ เรื่องฐานความผิดตามร่างมาตรา 3 (ความเหมาะสม การเพิ่มหรือลดฐานความผิด) เรื่องหลักสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการมีกฎหมายเฉพาะหรือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (วิธีการเพื่อความปลอดภัย)

นัดประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 7 เมษายน  2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคารรัฐสภา โดยจะเป็นการพิจารณาลงรายมาตรา ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

115 Views