เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการ และนางขัตติยา รัตนดิลก ในฐานะที่ปรึกษา ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 6 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ เรียงลำดับมาตรา ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเริ่มจากร่างมาตรา 5 ถึงร่างมาตรา 15 จนจบการพิจารณาในหมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
• มาตรา 5 เรื่องนิยามศัพท์ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 6 การนำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 7 ผู้รักษาการตามกฎหมาย : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 8 องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 9 คุณสมบัติคณะกรรมการฯ : รอการพิจารณา
• มาตรา 10 วาระการดำรงตำแหน่ง : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 11 การพ้นจากตำแหน่ง : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 12 หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 13 การนำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการของฎหมายปกครองมาใช้บังคับ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 14 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ : ไม่มีแก้ไข
• มาตรา 15 เรื่องเบี้ยประชุม : ไม่มีแก้ไข
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการตั้งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติไว้ คือเหตุผลความจำเป็นในการกำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 คณะ ในร่างกฎหมาย (คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ร่างมาตรา 8 และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ร่างมาตรา 16) ควรสอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประธานการประชุม ได้มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ได้รับไปพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นถ้อยคำในร่างมาตรา 11 เรื่อง หย่อนความสามารถ (ความหมายและเหตุผลการใช้ถ้อยคำ) และในร่างมาตรา 12 (1) เรื่อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ (ตรวจสอบเหตุผลความจำเป็น) นอกจากนี้ ประธานการประชุม ยังได้เน้นย้ำระยะเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อให้ทันการเปิดสมัยประชุมของรัฐสภาต่อไป