วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ.สกธ. เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์ข้อมูลผลคดีจากระบบ DXC เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 2 (JA 2) (ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings) โดยมีนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ.สกธ. ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกองทะเบียนประวัติอาชญากร เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
1. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) กล่าวถึงโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง ซึ่งยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร แจ้งว่า สถานีตำรวจบันทึกผลคดีถึงที่สุดเข้ามาในระบบแล้ว 7.8 ล้านราย จากที่มีประวัติคดีทั้งหมดกว่า 12 ล้านราย เหลืออีกกว่า 6 ล้านราย ที่ยังไม่มีการรายงานข้อมูลคดีถึงที่สุด จึงมอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจ เร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุด ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ เช่น คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ในการนี้ กองทะเบียนประวัติอาชญากรจึงขอความอนุเคราะห์ฐานข้อมูลจากสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบและคัดแยกข้อมูล ทำให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ยินดีสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
3. แนวทางการดำเนินงาน
ระยะสั้น : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองทะเบียนประวัติอาชญากร ดำเนินการประสานหน่วยงานเพื่อหารือด้านนโยบายของแต่ละหน่วยงาน โดยมีสำนักงานกิจการยุติธรรมร่วมหารือด้วย
ระยะกลาง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งข้อมูลเพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดเติมข้อมูลผลการสั่งของอัยการ และ ส่งต่อไปสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเติมข้อมูลคดีดำ คดีแดง และผลคดี เพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาตินำมาใช้ตรวจสอบประวัติให้กับประชาชน
ระยะยาว : ศูนย์ DXC ดำเนินการโครงการ Case flow & Tracking เพื่อให้สามารถสืบค้นสถานะคดีจาก เลขคดีของแต่ละหน่วยงาน