เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 406 – 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 13 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธาน ซึ่งการประชุมดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ เรียงลำดับรายมาตรา ในส่วนที่รอการพิจารณาไว้ จำนวน 10 มาตรา
สรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และประเด็นข้อสังเกตที่สำคัญได้ดังนี้
1. หลักการและเหตุผลของร่างฯ : ที่ประชุมมีมติให้มีการแก้ไข โดยแก้ไขถ้อยคำให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดเรียงฐานความผิดจากคดีเพศ ชีวิตร่างกาย และเสรีภาพ และถ้อยคำ “ถูกจำคุก” และ “ฟื้นฟู”
2. มาตรา 3 เรื่อง ฐานความผิด : ที่ประชุมมีมติให้มีการแก้ไข โดยการตัดมาตรา 280 ตามประมวลกฎหมายอาญาออก เนื่องจาก ไม่ใช่บทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิด แต่เป็นบทเพิ่มโทษ (ความผิดฐานอนาจาร จนผู้นั้นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย)
3. มาตรา 9 เรื่อง คุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ที่ประชุมมีมติ ไม่มีการแก้ไข
4. มาตรา 11 เรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ที่ประชุมมีมติ ไม่มีการแก้ไข
5. มาตรา 12 เรื่อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ที่ประชุมมีมติ ไม่มีการแก้ไข
6. มาตรา 16 เรื่อง องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ที่ประชุมมีมติให้มีการแก้ไข โดยเพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย
7. มาตรา 17 เรื่อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ที่ประชุมมีมติให้รอการพิจารณาไว้ เนื่องจากเชื่อมโยงกับมาตราอื่น ๆ อาทิ มาตรา 30 กรณีศาลมีคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
8. มาตรา 18 เรื่อง การนำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม : ที่ประชุมมีมติ ไม่มีการแก้ไข
9. มาตรา 19 เรื่อง มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด : ที่ประชุมมีมติให้รอการพิจารณาไว้ เนื่องจากมีข้อเสนอให้เพิ่มเติม เรื่องการนำมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วย ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับมาตรา 6 และมาตราอื่น ๆ ที่มีการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามาใช้บังคับโดยอนุโลมจึงต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งฉบับ
10. มาตรา 21 เรื่อง การใช้มาตรการทางการแพทย์ : ที่ประชุมมีมติให้มีการแก้ไข โดยมีประเด็นเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชและสาขาอายุรกรรม และประเด็นการใช้ยาหรือด้วยวิธีการรูปแบบอื่น รวมถึงประเด็นความยินยอมของผู้กระทำความผิด
11. มาตรา 22 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ : ที่ประชุมมีมติให้รอการพิจารณาไว้ เนื่องจากมีประเด็นสำคัญที่กระทบหลักการของร่างฯ เรื่อง การตีความเจตนารมณ์ของถ้อยคำว่า “กระทำความผิด” ที่หมายความรวมถึง การกระทำความผิดซ้ำในฐานความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ซึ่งจะใช้บังคับมีขอบเขตเพียงใด (เบื้องต้น มี 3 แนวคิด ได้แก่ 1) ซ้ำคดีใดคดีหนึ่งในมาตรา 3 2) ซ้ำตามกลุ่มความผิดหรือลักษณะการกระทำความผิด (กลุ่มคดีเพศ กลุ่มคดีชีวิตร่างกาย กลุ่มคดีเสรีภาพ) และ 3) ซ้ำในคดีเดิมที่ถูกศาลตัดสินโทษจำคุก)
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ อีกประมาณ 3-4 ครั้ง ก่อนจะสรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา ต่อไป
110 Views