เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางกระบวนการจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลบประวัติอาชญากรรม โดยมีนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ. สกธ. ในฐานะผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงมหาดไทย
มีประเด็นสืบเนื่องจากกรณีมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องข้อมูลประวัติอาชญากรรมที่ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้บุคคลที่ยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวอยู่ ขาดโอกาสในการเข้าทำงาน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อลบประวัติอาชญากรรม เช่น กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ศาลสั่งไม่ประทับฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง เป็นต้น
ผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้ชี้แจงข้อมูลในภารกิจของหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลบประวัติอาชญากรรม โดยผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรมฯ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสังคมและการให้โอกาสผู้พ้นโทษ และนิยามของคำว่า “ประวัติอาชญากรรม” ว่าหมายถึง ข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญา โดยมีหลักการไม่เปิดเผยประวัติอาชญากรรมเป็นหลัก และการให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมเป็นข้อยกเว้น ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรมผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากการประชุม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการชี้แจงผลจากการประชุมให้สื่อมวลชนได้รับทราบ เพื่อเป็นการเร่งผลักดันการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป