การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 17

jsoc17

📰 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA327 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

📍 นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 17 (ครั้งสุดท้าย)

📍 ทั้งนี้ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และร่างข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
🔸 ผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 43 มาตรา
(1) มีการแก้ไข จำนวน 12 มาตรา ได้แก่ มาตรา 3 มาตรา 9 มาตรา 16 มาตรา 19 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 29 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และ มาตรา 43
โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง ฐานความผิด การใช้มาตรการทางการแพทย์ การปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการอุทธรณ์ รวมถึงการแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
(2) กรรมาธิการฯ สงวนความเห็น 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 17 มาตรา 19 มาตรา 24 มาตรา 30 และมาตรา 34
โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ การทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน การกำหนดระยะเวลาเฝ้าระวังไว้ในคำร้องของพนักงานอัยการ การเสนอความเห็นของพนักงานคุมประพฤติต่อคณะกรรมการตามมาตรา 16 และการดำเนินการตามมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษของกรมราชทัณฑ์

🔸ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อร่างพระราชบัญญัติฯ มี 4 ประเด็น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
(1) หลักการของร่างฯ โดยการแก้ไขถ้อยคำให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
(2) เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฯ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยการกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาทิ การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพียงเท่าที่จำเป็น รัดกุม และเป็นธรรม ประการที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนหรือความสมดุลระหว่างการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิดและความปลอดภัยของสังคมด้วย
(3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องกำหนดแนวทางให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิตและความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหาตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฎิบัติงานด้านการสอบสวน การเตรียมความพร้อม และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการฝึกอบรม
(4) กระทรวงสาธารณะสุข ควรเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะความพร้อมในการบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

🔺 ขั้นตอนต่อไปของการเสนอร่างกฎหมายในรัฐสภา คาดว่าวุฒิสภา จะบรรจุวาระการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (วาระ 2 และวาระ 3) ภายในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2565

162 Views