เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมที่ 10-01 ชั้น 10 อาคาร กระทรวงยุติธรรม นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในฐานะผู้แทนสำนักกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2565 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวงยุติธรรม
ในการนี้ นางขัตติยา รัตนดิลก ได้รายงานความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ความเป็นมาของร่างพรบ. ฉบับนี้
เนื่องด้วยผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ อาจจะมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เมื่อถูกปล่อยตัวจึงกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ คือ การคัดกรอง จำแนก วินิจฉัยโรคตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ และการกำกับดูแลภายหลังจากที่พ้นโทษ อีกทั้ง ประเทศไทยยังขาดบทบัญญัติของกฎหมายและกลไกในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของบุคคลเหล่านี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรา พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา
(2) สาระสำคัญของร่างพรบ. ฉบับนี้
พรบ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ป้องกันสังคมจากการกระทำความผิดอุจฉกรรจ์ซ้ำ ส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และยังคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งอย่างเหมาะสม ผ่านมาตรการ ดังต่อไปนี้ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด, มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ, มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน
(3)ความคืบหน้าของร่างพรบ. ฉบับนี้
>>การพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐสภา
เนื่องจากวุฒิสภาได้มีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างฯ วุฒิสภาจึงส่งร่างฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุวาระการประชุมในร่างฯ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 (24 หรือ 31 ส.ค. 65)
>>การเตรียมความพร้อมรองรับกรณีกฎหมายจะมีผลบังคับใช้
– ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….
– จัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 6 ฉบับ
(4) ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากพ.ร.บ. ฉบับนี้
– ทำให้มีกลไกในการติดตามและเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาด ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือกระทำความผิดที่ใช้ความรุนแรงที่พ้นโทษไปแล้ว
– กำหนดมาตรการที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษมากยิ่งขึ้น
– มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างชัดเจน และเกิดการบูรณาการการทำงานในภาพรวม
135 Views