ผ่านแล้ว! ร่างกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ

Pic for web 8 09 10

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เวลา 12.47 น. สภาผู้แทนราษฏร ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ของวุฒิสภา กรณีนี้จึงถือได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปทางรัฐสภาจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีทั้งหมด 43 มาตรา มีหลักการที่สําคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความปลอดภัยให้สังคม และประชาชน 2) การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทําความผิด และ 3) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องคําสั่งตามกฎหมาย ทั้งนี้ การผลักดันกฎหมายป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในการช่วยทําให้ผู้หญิงปลอดภัยจากบุคคลอันตราย ช่วยป้องกันเหตุอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้จะมีความสําคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาระบบป้องกันอาชญากรรม ด้วยการแก้ไขฟื้นฟูและเฝ้าระวัง และเป็นร่างกฎหมายฉบับแรก ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเพื่อทําให้สังคม และประชาชนรู้สึกปลอดภัยจากบุคคลอันตรายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความทันสมัยตามหลักสากล

ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ได้กําหนดให้มีมาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อใช้บังคับกับผู้กระทําความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) คดีเพศ (ข่มขืน อนาจาร) 2) คดีชีวิตและร่างกาย (ฆ่าคนตาย ทําร้ายร่างกายสาหัส) และ 3) คดีเรียกค่าไถ่ โดยมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟูและรักษาผู้กระทําความผิด มากกว่าการลงโทษ โดยมีทั้งหมด 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทําความผิด รวมถึง มาตรการทางการแพทย์ 2) มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ เช่น การติดกําไลอีเอ็ม ให้เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง การมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยติดตาม 3) มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และ 4) การคุมขังฉุกเฉิน เมื่อผู้ถูกเฝ้าระวังมีพฤติกรรมเสี่ยง จะถูกควบคุมตัวทันที เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น ทั้งนี้ ระยะเวลาในการใช้มาตรการมีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า การใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทําความผิดและมาตรการทางการแพทย์ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน อีกทั้งต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างน้อย 2 คน และต้องได้รับการยินยอมรับการรักษาฟื้นฟูจากผู้ต้องขังด้วยตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการรักษาจะมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น การใช้ยาโดยการฉีดและการกิน การบําบัดด้วยจิต การทําหัตถการต่าง ๆ เป็นต้น จึงไม่ได้มีแค่การ“ฉีดฝ่อ”เท่านั้น ซึ่งจะรักษาด้วยวิธีการใดนั้น ทางแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ วินิจฉัย และลงความเห็นทุกครั้ง

ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวอีกว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันไม่ให้มีการทําความผิดซ้ำอีก ทางกระทรวงยุติธรรมจะมีการเตรียมความพร้อมรองรับ อาทิ การจัดทำกฎหมายลูก การเตรียมสถานที่ บุคลากร เครื่องมือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดําเนินการด้วยความระมัดระวัง ใช้กฎหมายเท่าที่จําเป็น รัดกุม และเป็นธรรม รวมถึงแนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรม จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

167 Views