การประชุมทางวิชาการเพื่อวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม

Pic for web 8 11
    วันที่ 2 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรม เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เป็นประธานการประชุมทางวิชาการเพื่อวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม : การทบทวนกฎหมาย หรือมาตรการที่นำมาใช้เพื่อเป็นการหันเหผู้กระทำความผิดจากการควบคุมตัว ก่อน ระหว่าง และหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ดำเนินโครงการวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อิงครัต ดลเจิม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ อาจารย์ วิเชษฐ์ สินประสิทธิ์กุล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมีผู้แทนจากส่วนราชการและสถาบันการศึกษา เข้าร่วมการประชุมประมาณ 35 คน ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม โดยมีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้
    1. การนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การทบทวนกฎหมายหรือมาตรการที่นำมาใช้เพื่อเป็นการหันเหผู้กระทำความผิดออกจากการควบคุมตัว ก่อน ระหว่าง และหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยคณะผู้วิจัย ซึ่งประกอบด้วยที่มาและความสำคัญของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย ผลการศึกษาวิจัยและข้อเสนอแนะ โดยได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กฏหมาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการหันเหผู้กระทำความผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ก่อน ระหว่าง และหลังการพิจารณาคดีของศาล
    2. การอภิปรายในหัวข้อ การขับเคลื่อนกฎหมาย หรือมาตรการที่นำมาใช้เพื่อเป็นการหันเหผู้กระทำความผิดจากการควบคุมตัว ก่อน ระหว่าง และหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมีประเด็นการแลกเปลี่ยนที่สำคัญ คือ
การหันเหผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดที่เป็นความผิดฐานเสพยาเข้าสู่กระบวนการบำบัด ควรพิจารณาความพร้อมของระบบสาธารณสุข ว่าสามารถรองรับได้หรือไม่ และควรมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องว่ากระบวนการบำบัดยาเสพติดสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้จริงหรือไม่
    – การให้มีการสืบพยานโดยศาล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ อาจทำให้กระบวนการพิจารณาคดีมีความล่าช้า
    – อาจมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความแตกต่างจากคดีทั่วไป
    – ควรมีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการแจ้งสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีความผิด ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย หรือกรณีคดียาเสพติดที่สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดแทนได้ โดยควรแจ้งตั้งแต่ชั้นการจับกุม
    – ผู้ใหญ่บ้าน หรือคนในชุมชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ยได้ โดยจะต้องเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่ กพยช. ให้การรับรองก่อน
    – การปล่อยตัวผู้ต้องหา ผู้กระทำความผิด หรือผู้พ้นโทษกลับสู่ชุมชน ควรมีการพิจารณา และประเมินความพร้อมของชุมชนก่อนด้วย
    ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม และคณะผู้วิจัย จะได้นำไปปรับปรุงผลการศึกษาวิจัยให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาต่อยอดโครงการวิจัยให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ได้อย่างแท้จริง และเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยต่อไป
165 Views