เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมกองฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ชั้น 9 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้ นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมคณะทำงานจัดทำกฎหมายลำดับรอง ที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. (คณะที่ 1) ครั้งที่ 2/2565 จัดโดย กรมคุมประพฤติ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
โดยการประชุมในครั้งนี้ กรมคุมประพฤติ ได้จัดประชุมในรูปแบบ Workshop แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. ….
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญ อาทิ การกำหนดสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน กระบวนการรับตัวส่งตัวในขั้นตอนการใช้มาตรการตามกฎหมาย และการพิจารณาหลักเกณฑ์การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมภายหลังพ้นโทษ โดยประเด็นที่ได้หยิบยกขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อจำกัด ในด้านกฎหมายหรือแนวปฏิบัติรองรับ สถานที่ บุคลากร งบประมาณ และประเด็นที่สำคัญคือ การใช้ดุลพินิจและการบังคับ ตามกฎหมายที่ต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดหรือกระทบสิทธิผู้ต้องคำสั่ง ดังนั้นขั้นตอนหรือวิธีการที่จะปฏิบัติต้องมีความชัดเจน
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 มาตรา 23 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 38 ของร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับจากเดิมมี 16 ข้อ เป็น 13 ข้อ และแบ่งเป็น 4 หมวด สรุปได้ดังนี้
– ส่วนแรก ประกอบด้วย คำปรารภ วันประกาศใช้ และนิยามศัพท์
– หมวด 1 หลักเกณฑ์ วิธีการในการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ (ข้อ 5 – ข้อ 8)
– หมวด 2 การเสนอความเห็นให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษของพนักงานคุมประพฤติ (ข้อ 9 – ข้อ 10)
– หมวด 3 การเสนอความเห็นให้คุมขังฉุกเฉินของพนักงานคุมประพฤต (ข้อ 11 – ข้อ 12)
– หมวด 4 การเสนอความเห็นภายหลังศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉินของพนักงานคุมประพฤติ (ข้อ 13)