การประชุมหารือเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  

Pic for web 9 9

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 น. ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เป็นผู้แทนในการประชุมหารือเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี พ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. หลายหน่วยงานมีกฎหมายที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ. 2551 (แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2561) พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี

2. นอกเหนือจากกฎหมายเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ยังมีกฎหมายกลางที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ, 2540 อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ยังไม่ได้มีการบัญญัติกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่เกินขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้น หากผิดกฎหมายยังคงต้องถือว่าเป็นการผิดวินัย แต่ถ้าผิดวินัยไม่ร้ายแรงจะสามารถลดหย่อนหรืองดโทษได้

3. มีข้อสังเกตให้ไปนำแนวทางของประเทศฝรั่งเศสมาพิจารณา และต้องพิจารณาด้วยว่าจะต้องมีการยกเลิกกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน และใช้กฎหมายกลางเป็นหลัก หรือใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานเพื่อเสริมกฎหมายกลาง

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้มีกฎหมายกลาง คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และต้องไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตว่าการกระทำใดของเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับความคุ้มครองให้ชัดเจน ประกอบกับอาจต้องคำนึงถึงบุคคลผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐที่จะให้ได้รับความคุ้มครองด้วยหรือไม่ รวมถึงจำเป็นต้องพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ซึ่งจะได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

113 Views