เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. กลุ่มพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการยุติธรรมได้จัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด ครั้งที่ 2/2565 โดยวิธีการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting โดยมีพันตำรวจโท ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กรมธนารักษ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสรุปสาระสำคัญในการประชุม ดังนี้
สาเหตุที่ทำให้ทรัพย์ค้างการขายทอดตลาดเกิน 10 ปีขึ้นไป (1) เหตุขัดข้องด้านกระบวนการบังคับคดี (2) ทรัพย์ด้อยมูลค่า อาทิ ที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออก การนำที่ดินเกษตรมาจัดสรรเป็นแปลงย่อย โดยยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค ที่ดินที่มีน้ำท่วมขัง มีผู้บุกรุก หรือที่ดินที่ถูกตักหน้าดินขาย ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้
(1) ต้นแบบที่ 1 การนำทรัพย์ที่นายประกันนำมาวางเป็นหลักประกันที่ขายทอดตลาดไม่ได้ มาพัฒนาใช้ประโยชน์ โดยให้ดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และชลบุรีในการไกล่เกลี่ย ซึ่งมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการภายใต้ข้อกฎหมายที่มีอยู่
(2) ต้นแบบที่ 2 การดำเนินโครงการนำร่องการไกล่เกลี่ยหนี้สินเกษตรกรหรือหนี้สินที่เป็นที่ดินที่สามารถพัฒนาเพื่อการเกษตรร่วมกับสถาบันจัดการธนาคารที่ดินและสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยให้กำหนดพื้นที่นำร่อง โดยจัดทำ land map และศึกษาข้อมูลมาตรการที่ธนาคารออมเสิน ธนาคารที่ดิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
(3) ต้นแบบที่ 3 การดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการนำห้องชุดร้างหรือห้องชุดด้อยมูลค่ามาเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยให้ทดลองดำเนินการในพื้นที่ดอนเมือง ซึ่งอาศัยจากความร่วมมือของกรมบังคับคดี และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
(4) ต้นแบบที่ 4 การนำทรัพย์ที่อาจสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่า มาใช้ประโยชน์เพื่อใช้หนี้ โดยใช้กลไกของสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ร่วมในการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้วนำทรัพย์ปล่อยเช่ากับผู้มีรายได้น้อย
ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด โดยจัดให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้สินต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตว่าหากมีการนำข้อมูลของทรัพย์ค้างขายทอดตลาดในแต่ละพื้นที่มาลงในระบบ GIS และนำข้อมูลของผู้ที่มีความสนใจซื้อทรัพย์หรือที่ดินมาประกอบการพิจารณา จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น